7 ม.ค.2565 วิทยาลัยเพาะช่าง : ดร.พิจักษณ์ เพชรสงค์ หรือ เอี้ยงปู่ยีนส์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาสมาคมเยาวชนจิตอาสาพัฒนา เครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม และส่งเสริมพระพุทธศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งไม่ได้เป็นศิษย์เก่าเพาะช่าง แต่มีความผูกสัมพันธ์กับสถาบันมากว่า 3 ปี ด้วยเหตุจากการได้มีโอกาสไปเช่าพื้นที่ภายในรั้วสถาบัน ซึ่งเดิมเป็นห้องทำงานของอาจารย์ถวัล ดัชนี มาเปิดเป็นโรงเรียนสอนวาดรูป ทำการสอนโดยคณาจารย์ของวิทยาลัยเพาะช่าง สลับสับเปลี่ยนกันมาแชร์ประสบการณ์เป็นวิทยาทานให้กับเยาวชนและผู้สนใจ ผู้ที่เข้ามาเรียนนอกจากจะได้เรียนรู้ศิลปะแขนงต่าง ๆ แล้ว ด้านหน้า เปิดเป็นมุมกาแฟ ชื่อ Art&Kaffee บริการอาหาร-เครื่องดื่มและเบเกอรี่ ด้านในเปิดเป็นแกลอรี่ แสดงภาพผลงานของบรมครูศิลปินมากมาย อาทิ อาจารย์ถวัล ดัชนี , อาจารย์อภิชัย การิกาญจน์ , รศ.นพดล เนตรดี และเหล่าครูศิลปินอีกหลายท่าน เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชม รวมถึงเด็ก ๆ ได้มีแรงบันดาลใจ ในการสืบสาน และสร้างสรรค์ผลงานต่อไป
ด้านอาจารย์วิชัย รักชาติ หัวหน้าสาขาวิชาจิตรกรรมไทย เล่าว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เดิมชื่อว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” กำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้วยพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2456 ที่ทรงเสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดและทรงพระราชทานชื่อ “โรงเรียนเพาะช่าง” ซึ่งมีความหมายว่า สถาบันที่เป็นแหล่งบ่มเพาะศิลปะการช่าง เป็นต้นกำเนิดแห่งศิลปวิทยา เพื่อผลิดอก ออกผล สร้างความเจริญงอกงามให้กับแผ่นดินด้วยงานศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมไทย ดังกระแสพระราชดำรัสในวันเปิดโรงเรียนเพาะช่างตอนหนึ่งว่า “ความเจริญในศิลปะวิชาการช่างเป็นเครื่องวัดความเจริญชาติ” และได้ ถือให้วันที่ 7 มกราคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสถาบัน
นอกจากนี้โรงเรียนเพาะช่างยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ ที่ทรงเสด็จเยี่ยมชมกิจการและเปิดนิทรรศการศิลปะในโอกาสต่างๆ มาโดยตลอด กล่าวได้ว่า โรงเรียนเพาะช่าง เป็นสถาบันศิลปะแห่งแรกของไทย ที่เริ่มต้นจากการจัดการศึกษาทั้งสายช่างศิลปกรรมและสายครูศิลปะ ที่มีคุณภาพ จนเป็นที่เชื่อถือและยอมรับทั้งในและต่างประเทศ มีการพัฒนาหลักสูตรและเทคนิคการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับยุคสมัย จนได้รับวิทยฐานะเทียบเท่าระดับอุดมศึกษาจวบจนปัจจุบัน
สนใจ ร่วมกิจกรรมกับสมาคมเยาวชนจิตอาสาพัฒนา : ด้านการพัฒนาบุคลิกภาพ , ด้านศิลปะ , กิจกรรมจิตอาสาและสาธารณประโยชน์ โทร.099-084-6593, 084-554-2895