สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์สมาชิกที่ จ.สุพรรณบุรี

สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นำโดย นายคณิต วัลยะเพ็ชร์ นายกสมาคมฯ และ พล.ต.ต.นิพนธ์ ภู่พันธ์ศรี ประธานที่ปรึกษาสมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์สมาชิก โดยนำคณะกรรมการสมาคมฯ เดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 25 – 26 สิงหาคม 2566 เพื่อพบปะสังสรรค์สมาชิกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี ดร.วิเชียร รุจิธำรงกุล กรรมการสมาคมนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง มาให้การดูแลและอำนวยความสะดวกตลอดทั้ง 2 วัน

เมื่อถึงจังหวัดสุพรรณบุรี ทางคณะฯได้เข้าเยี่ยมคาราวะผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป แต่เนื่องจากท่านผู้ว่าฯ ติดภารกิจ เลยมอบหมายให้รองผู้ว่าฯ นายปริญญา เขมะชิต ซึ่งเป็นสิทธิ์เก่าคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหงมาให้การต้อนรับแทน  

จากนั้น ทางคณะได้เดินทางไปสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองโบราณสุพรรณบุรี ถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นพุทธปฎิมากรรมสลักบนแผ่นหินแบบนูนต่ำ ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ซึ่งเป็นศาสนาที่ชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ทิเบต ญวน เขมร นับถือ เป็นศิลปะแบบขอมเป็นรูปพระวิษณุกรรมสวมหมวกแขก  อายุประมาณ 1300-1400 ปี

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองใน โอกาสที่ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 20 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2539  ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มีรูปปั้นมังกรขนาดใหญ่ตั้งโดดเด่นมองเห็นแต่ไกลจากท้องถนน  ภายในพื้นที่ประกอบด้วย ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง พิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร และหมู่บ้านมังกรสวรรค์

ทางคณะได้เดินทางไปที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร เพื่อสักการะองค์หลวงพ่อโต พระประธานของวัดป่าเลไลยก์ฯ  

วัดป่าเลไลยก์ฯ เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่ามีอายุราว 1200 ปี ตั้งอยู่ริมถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าวัดป่า ภายในวิหาร เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ปางป่าเลไลยก์ ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า …พระเจ้ากาเตทรงให้มอญน้อย มาบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ภายหลังปี พ.ศ. 1724 เล็กน้อย  หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ศิลปะสมัยอู่ทอง สุพรรณภูมิ (คือประทับนั่งห้อยพระบาท)  มีนักปราชญ์หลายท่านว่า เดิมคงเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สร้างไว้กลางแจ้ง ต่อมาได้มีการบูรณะ ซ่อมแซมใหม่ และทำเป็นปางป่าเลไลยก์ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ภายในองค์พระพุทธรูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ 36 องค์ ที่ได้มาจากพระมหาเถรไลยลาย

วัดป่าเลไลยก์ มีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีอันลือชื่อของไทย  คือ เสภาขุนช้างขุนแผน นิราศเมืองสุพรรณของสุนทรภู่  ปัจจุบัน วัดป่าเลไลยก์ มีสถานะเป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร

ออกจากวัดป่าเลยก์ไล  เดินทางไปไหว้พระใหญ่ หรือ พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ (หลวงพ่ออู่ทอง) ปางโปรดพุทธมารดา เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ แกะสลักด้วยหินธรรมชาติ ขนาดความสูง 108 เมตร ฐานกว้าง 88 เมตร หน้าตักกว้าง 65 เมตร สร้างขึ้นบนผาสูงใหญ่เสียดฟ้าที่มีชื่อว่า “ผามังกรบิน” และเนื่องจากเดิมที่แห่งนี้เคยเป็นเขตสัมปทานระเบิดภูเขาทำโรงโม่หิน ก่อนจะหมดสัญญาและทิ้งให้รกร้าง ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จึงเข้ามาปรับทัศนียภาพด้านหน้าองค์พระให้สวยงามน่ามอง

ที่ด้านหลังองค์พุทธรูป จะพบกับอุโมงค์ขนาดใหญ่ ความกว้าง 20 เมตร ความลึก 50 เมตร จังหวะที่ย่างเท้าก้าวเข้ามาก็จะได้สัมผัสกับความเย็นสบาย ของลมที่พัดผ่านให้ความรู้สึกถึงความร่มเย็นเป็นสุขของสถานที่แห่งนี้ได้จริง ๆ

นอกจากนี้ด้านในยังมีพระแม่ธรณีบีบมวยผมประดิษฐานอยู่ รวมถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ประดิษฐานที่เปิดให้ผู้คนเข้ามาสักการบูชาขอพรเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจในวันสำคัญต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา

ทางคณะได้เดินทางเข้าที่พัก ณ วังยาง รีสอร์ท เพื่อเช็คอินก่อนที่จะมีงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคณะกรรมการและเหล่าสมาชิกจากจังหวัดสุพรรณบุรี

งานนี้ มี  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ รศ.ดร.สุรพล ราชภัณฑารักษ์ ผอ.หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้เกียรติเข้าร่วมงาน

เช้าวันรุ่งขึ้น ทางคณะฯ ได้เดินทางไปร่วมตักบาตรทางน้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ที่ สวนกล้วยสุพรรณบุรี หลังวัดป่าเลไลยก์

กิจกรรมตักบาตรทางน้ำ จัดขึ้นทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ในเวลา 07.00 น. ณ บริเวณศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นกิจกรรมย้อนวิถีชีวิตชาวพุทธริมฝั่งแม่น้ำในอดีต ทั้งยังร่วมส่งเสริมและสืบสานฟื้นฟูวัฒนธรรมริมฝั่งน้ำ มีพระสงฆ์ 9 รูป และพระพุทธรูป 1 องค์

อิ่มบุญกันแล้ว ก็ได้ไปช้อปปิ้งที่ ตลาดสามชุก ซึ่งเป็นห้องแถวไม้ริมแม่น้ำท่าจีน ตั้งอยู่ในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ในอดีตตลาดสามชุกเป็นย่านการค้าสำคัญ และเป็นแหล่งชุมชนของชาวไทยเชื้อสายจีน ตลาดสามชุกเปิดทุกวัน ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น มีของกินอร่อย ๆ ทั้งอาหารและขนมโบราณพร้อมของฝากมากมาย

ทางคณะได้นั่งเรือชมบรรยากาศ วิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำท่าจีน และแวะชมบ้านเรือนไทยสาคร ของลุงเช็ง หรือนายสุจิตต์ เล่ห์จันทร์พงษ์ ซึ่งเป็นบ้านเรือไทยย้อนยุค ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 13 หมู่ที่ 1 ต.สามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เป็นบ้านเรือนไทยหมู่ขนาดใหญ่ อยู่รวมกันหลายหลัง เชื่อมต่อกันเป็นแนวยาว กว่า 16 หลัง มีความเก่าแก่ ไม่ต่ำกว่า 100 ปี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ของจังหวัดสุพรรณบุรี

ทางคณะสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ซื้อของติดไม้ติดมือก่อนที่จะลำลาจังหวัดสุพรรณบุรี กลับกรุงเทพฯโดยสวัสดิภาพ

Related posts