สกู๊ปพิเศษ : แบรนด์ “KHWANTA” สร้างผ้าไทยต่างชาติชื่นชอบ

              บังเอิญไปเจอร้านผ้าไหมในงาน “แพรพรรณลุ่มภูสู่สากล” ที่จัดเป็นครั้งแรก ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เดินดูรอบงานก็เจอร้านผ้าไทยหลายร้าน แต่ก็สะดุดตาชุดผ้าไทยร้านหนึ่งที่ตัดเย็บลวดลายออกมาเข้ากับยุคสมัยนี้ ซึ่งแตกกต่างจากที่ผ่านมาจะดูเป็นผู้ใหญ่ ทำให้ดึงดูดความสนใจเราซึ่งชอบการแต่งตัว จึงอยากสัมภาษณ์ผู้ออกแบบ โดย พี่อ๋อย – สุมามาลย์ เจ้าของแบรนด์ “KHWANTA” ได้เล่าให้ฟังว่า

              “จริง ๆ อ๋อยตั้งแต่เกิดมาก็เห็นคุณแม่ทั้งทอผ้าและตัดเย็บเสื้อผ้าขายในหมู่บ้าน สมัยก่อนก็จะเป็นเสื้อชั้นใน เสื้อคอกระเช้าของคนแก่คนเฒ่าที่มีกระดุมด้านข้าง มีกระเป๋าด้านหน้าน่ะค่ะ คุณแม่จะเดินขายในหมู่บ้านค่ะ คุณแม่มีลูกสิบคน อ๋อยเป็นลูกคนที่แปด คุณแม่ต้องส่งลูกเรียน แล้วลูก ๆ ทุกคนไม่ได้สานต่อ อย่างอ๋อยพอติดกระดุมเสื้อคุณแม่ก็จะให้คัดเวิร์กรังดุม เพราะสมัยก่อนจะไม่มีจักรคัดรังดุมเหมือนสมัยนี้น่ะค่ะ ก็พอเราจับเข็มได้คุณแม่ก็สอนแต่เด็ก ๆ เห็นเพื่อนวิ่งเล่นหน้าบ้านกันแต่เราต้องช่วยคุณแม่ติดรังดุมนั่งทำทั้งน้ำตาไหล พออ๋อยเข้ามัธยมปีที่ 1 คุณพ่อเสียทำให้คุณแม่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสิบคนค่ะ พออ๋อยขึ้นมอ.3จะมีกิจกรรมอาจารย์ให้เย็บชุดนอนปรากฏว่าอ๋อยทำสวยกว่าเพื่อนเลย อาจารย์ก็ตกใจ เพราะเราฝึกมาจากคุณแม่ พออาจารย์เห็นผลงานก็บอกยัยสุมามาลย์เธอเย็บสวยเธอไม่ต้องไปต่อมอ4เลยเธอไปต่ออาชีวะเลย ก็เลยทำตามคำแนะนำของอาจารย์ไปต่อสายอาชีพค่ะ แต่แม่ก็บอกไม่มีตังค์ให้เรียนหรอก พี่ ๆ บอกจะช่วยค่าเล่าเรียนให้ค่ะ

              พอเรียนจบก็เข้ามาทำงานในกรุงเทพ ก็ตัดเสื้อผ้าให้ตัวเองใส่ ก็มีคนถามว่าตัดใส่แล้วทำไมไม่ตัดขาย ก็นึกว่าถ้าเรากลับไปอยู่กับคุณแม่แล้วให้ชุมชนเรามีรายได้ มันก็ดีนะ จึงไปลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน (OTOP) มาเป็นเวลายี่สิบปีแล้วค่ะ เซตที่ขนมาในงานอ๋อยออกแบบดีไซน์เองค่ะ อ๋อยมาดูแล้วเนี่ยผ้าไทยมีมูลค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ ผ้าทุกลายทอเองจนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ขวัญตาค่ะ จากที่ได้ยินผ้าทุกคนจะบอกใส่แล้วแก่ ไม่อยากใส่เลย ซึ่งผ้าไทยถือเป็นทรัพย์สมบัติของประเทศไทยเพราะเป็นงานแฮนด์เมด อ๋อยทำผ้าไทยต้องลบคำว่าผ้าไทยใส่แล้วแก่ให้ได้ เราต้องดีไซน์แล้วก็สิ่งที่นำมาเสริมในการออกแบบดีไซน์จะเป็นงานด้นมือ เพราะสมัยก่อนคุณแม่เย็บผ้าด้วยมือทั้งหมดเลย คุณแม่จะรับจ้างเย็บหมอน รับจ้างเย็บที่นอนเพื่อที่จะมีรายได้มาเลี้ยงลูก อ๋อยก็เลยเอางานของคุณแม่มาดัดแปลงเติมแต่งในเสื้อผ้าทำให้เก๋ แล้วเด็ก ๆ คนรุ่นใหม่เห็นแล้วอยากใส่  อย่างเสื้อครอปสั้นค่ะ

              แล้วอ๋อยได้ไปเรียนต่อสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ที่สุขุมวิท 101 อ๋อยอยู่กับโอท็อปแล้วก็แม่ ๆ ที่ทอผ้าในจังหวัดหนองบัวลำภูเยอะ ก็อยากรู้การออกแบบดีไซน์ลวดลายและเทคนิกต่าง ๆ จะเอาอะไรมาเติม เลยไปเรียนเพิ่มเราจะได้เข้าใจถ้าออกแบบลวดลายเพิ่ม หรือออกแบบดีไซน์ที่มีความต่างจริง ๆ เราก็ใฝ่ฝันอยากจะเรียนนะคะ อย่างสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ถ้าเราไปเรียนต่างประเทศก็หลายล้าน คง โห…เราคงเอื้อมไม่ถึง ก็มาเรียนที่เมืองไทย เราเรียนเพิ่มเติม แล้วก่อนหน้าเราก็มีโอกาสได้ไปฮังการี แล้วในปี 2562 เราได้นำผ้าไทยไปเดินที่ลอนดอนแฟชันวีค โห ว้าวเลยค่ะ ฝรั่งมาจองชุดนี้ ๆ และบางชุดเราให้พรีออร์เดอร์ อย่างล่าสุดเราไปที่ไทเปพอลงเวทีผู้เข้าชมงานก็ชี้เอาชุดนี้ ๆ วันนี้ไม่ได้เอาชุดที่ไปเดินแฟชันวีคที่ลอนดอนมาค่ะ ที่ผ่านมาเราไป ลอนดอน ฮังการี ไทเป มุมไบ เดลี อินโดนีเซีย ไปหลายประเทศ ซึ่งต่างประเทศเขาต้อนรับผ้าไทยเราดีมากค่ะ หลังจบงานเขาก็มีทักแชทถามมาว่า มีขายที่ไหนค่ะ

              กับคำถามชุดไทยแพง คนที่จับต้องได้ต้องมีเงิน? สำหรับอ๋อยแพงหรือไม่แพงอยู่ที่ชิ้นงาน การใส่ใจ แล้วเราอยากสร้างมูลค่าเพิ่ม ของทางแบรนด์ KHWANTA” จริง ๆ แล้วเราจะออกแบบก่อนแล้วไปทอผ้า การย้อม การวางลายนะคะ หรือในเรื่องของลายในการพัฒนาของเรา เทคนิกการทอ ซึ่งการย้อมมันมีผลหมดเลยนะคะ เพราะเราจะไปตัดสินยากง่าย หรือการใช้ผ้าในการตัดต่อ ในเรื่องของขบวนการทอ เทคนิกการทอ มันอยู่ด้วยกันหมดเลย ถ้าคนที่ทำจริง ๆ เรามองว่าไม่แพงเพราะกว่าเราจะได้ชุดหนึ่งมีขั้นตอน ตั้งแต่การขึ้นเส้นยืน การทอ การออกแบบดีไซน์ เทคนิกการเย็บ ทุกอย่างทุกขบวนการมันแฮนด์เมดทั้งหมดเลย อย่าง การทอเราก็ต้องใส่ใจด้วยแล้วลายเราก็อยากให้ทุกอย่างออกมาดีมาสวย สำหรับศูนย์การเรียนรู้ขวัญตาก็อยากให้คนไทยทุกคนทุกคนรักแล้วก็หวงแหนสิ่งที่บรรพบุรุษเราสร้างไว้นะคะ อยากจะให้ทุกคนช่วยกันไม่จำเป็นต้องใช้แบรนด์ของขวัญตา อยากจะให้ทุกท่านใช้ผ้าไทยในประเทศไทยถือว่าเงินไม่ออกไปไหน แล้วเราก็ไปอวดชาวโลกมาใช้ผ้าไทยเรา มาใช้สินค้าไทยเรา ให้เงินเข้ามาอยู่ในประเทศไทย จริง ๆ ชุมชนอย่างในหนองบังลำภูต้องบอกว่าเจ็ดสิบถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์แม่บ้านและพ่อบ้านมาช่วยกันทอถือเป็นครอบครัวที่อบอุ่น โดยหากที่นาแห้งแล้งทำนาทำสวนไม่ได้แต่เรามีลูกต้องส่งเรียนพ่อบ้านบางคนก็ต้องหันมาฝึกทอ เพื่อจะมีรายได้ ซึ่งทั่วประเทศหรือถ้าหนองบังลำภูทอผ้ามาแล้ว ถ้าคนไทยไม่ช่วยกันซื้อไปใส่เราก็ไม่สามารถทอได้ เรายังไม่ได้บอกสู่สากลนะคะ ฉะนั้นความหวังที่ใกล้ตัวที่สุดคือความหวังจากคนไทยด้วยกันที่มาส่งเสริม ที่มาช่วย ไม่ใช่แค่รายได้ในประเทศไทยนะคะ ถือว่าช่วยกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเราเอาไว้นะคะ แล้วที่มองว่าผ้าไทยใส่แล้วแก่แต่ถ้ามองว่าผ้าไทยใส่แล้วมีความภาคภูมิใจ และมีความอบอุ่นใจว่าบรรพบุรุษเราสร้างไว้ค่ะ”

              ผู้ชื่นชอบผ้าไทยติดต่อได้ line id 0628266929

Related posts