3 สมาคมจุฬาฯ ผนึก กกร. จัดเสวนาระดับชาติ “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ครั้งแรกในประเทศไทย

กรุงเทพฯ – 19 พฤษภาคม 2565 – สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าเศรษฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย จัดงานเสวนา “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า งาน “เบตเตอร์ ไทยแลนด์ฯ” เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเชิงสร้างสรรค์ครั้งในประเทศไทย ร่วมกับ BRANDi and Companies และหลักสูตร Innovative Engineering for Sustainability ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2565 พร้อมไลฟ์สดผ่านช่องทางยุทูบ BetterThailand2022

โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาประเทศให้ดีกว่าเดิม และนำไปสู่การผลักดันให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยสำหรับโลกหลังโควิด-19

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมในเวที Better Stage เวทีสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม เพื่อจุดประกายแนวคิดและสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ประเทศไทยที่ดีกว่าร่วมกัน และการจัดนิทรรศการ Better Thailand ในด้านต่าง จากภาครัฐ รวมทั้งบูทภาคเอกชนและ Startup ภายใต้โมเดลธุรกิจ BCG กว่า 30 หน่วยงานและบริษัท โดยประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในเวที Better Stage และชมนิทรรศการตลอดสองวันฟรี ณ ชั้น 5 รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน

นายศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดเสวนา“เบตเตอร์ ไทยแลนด์ฯ” ในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือระดับประเทศครั้งแรกในไทย ระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม ในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อค้นหาคำตอบที่ชัดเจนในประเด็นหลัก 5 ส่วนสำหรับคนไทยทุกคน ได้แก่ 1) ภาพรวมของประเทศไทย 2) เศรษฐกิจ 3) สังคม 4) สิ่งแวดล้อม 5) คุณภาพชีวิต รวมกว่า 50 ประเด็น โดยมี 35 ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางของประเทศจากภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม ร่วมเสวนา

“หัวใจหลักของงานเสวนานี้คือ การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมค้นหาคำตอบกับประเด็นคำถามที่ค้างคาใจครอบคลุมตั้งแต่ระดับมหภาคไปจนถึงจุลภาค อาทิ ประเทศไทยหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่ การวางโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง การวางแนวทางเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศในการแข่งขันในเวทีโลก การแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน สินค้าราคาแพง ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว และการผลักดันให้กฎหมายและระบบราชการไทยก้าวทันโลกยุคดิจิทัล เป็นต้น พวกเราทุกคนจะมาร่วมเปลี่ยนความสงสัยให้กลายเป็นความหวังและนำไปสู่ความร่วมมือในการจัดการประเทศอย่างสมดุล ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาประเทศให้ดีกว่าเดิมอย่างเป็นรูปธรรม” นายศักดิ์ชัย กล่าวเสริม

เบตเตอร์ ไทยแลนด์ฯ วันแรก ถามมา-ตอบไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเต็มสูบ ในโอกาสนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ร่วมนำเสนอแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในเวทีเสวนาหัวข้อ มองเศรษฐกิจโลก สะท้อนเศรษฐกิจไทย ร่วมกับ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยแลกเปลี่ยนมุมมองความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจหลังโควิด เพื่อร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจระยะสั้น ไปจนถึงเศรษฐกิจไทยยุคใหม่ในระยะยาว ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิด ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับคนไทยทุกคน

ในภาคบ่าย นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร ช่วงที่ 1 ร่วมกับ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายอุกฤษ อุณหเลขกะ Co-Founder & CEO จาก Ricult เกี่ยวกับทิศทางการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและภาคการเกษตร ควบคู่ไปกับการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยการสนับสนุน เช่น เทคโนโลยีและการพัฒนาในเชิงพื้นที่ที่จำเป็นต่อการเติบโต รองรับทั้งวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร ช่วงที่ 2 ร่วมกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย CEO บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เพื่อค้นหาแนวทางการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ผ่านการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อวางรากฐานที่เข้มแข็งและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

“เบตเตอร์ ไทยแลนด์ฯ” วันที่สอง ค้นหาคำตอบในประเด็นสังคมสิ่งแวดล้อม-คุณภาพชีวิตอย่างเข้มข้น

สำหรับงานเสวนา “เบตเตอร์ ไทยแลนด์ฯ” ในวันที่สองนั้น ได้รับเกียรติจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สังคมยุคใหม่ กฎหมายทันสมัย ระบบราชการทันโลก แก้คอรัปชั่นทันที” แสดงทรรศนะทางด้านประเด็นสังคมว่า การบริหารจัดการประเทศและสังคมในปัจจุบันกำลังเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทุกเรื่องต้องใช้เวลา แต่เราเดินไปข้างหน้าแน่นอน

จากนั้น นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ” ร่วมกับ ศ. ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เผยถึงการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในทุกภาคส่วน การหาโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อลดโลกร้อน เพิ่มพลังงานสะอาด เยียวยาระบบนิเวศ โดยมีเป้าหมายในการทำให้เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเติบโตร่วมกันได้ และบรรลุเป้าหมายในการทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และพร้อมส่งมอบสิ่งแวดล้อมคุณภาพดีให้คนรุ่นต่อไป

ในภาคบ่ายมีการเสวนาเกี่ยวกับประเด็นด้านคุณภาพชีวิตอย่างสร้างสรรค์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำทีมเสวนาในหัวข้อ คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ดูแลทุกวัย ยกระดับสวัสดิการ” กับการแก้ไขปัญหาพื้นฐานในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การศึกษา รวมถึงการบริหารจัดการบริการและสวัสดิการภาครัฐ เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการ ทุกเพศ ทุกวัย อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ร่วมเสวนา

และส่งท้าย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก
เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ร่วมเสวนาในหัวข้อ คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสทุกคน” ให้แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการให้
คนไทยทุกคนได้เข้าถึงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาหนี้สิน จนนำไปสู่การกำจัดความยากจนอย่างยั่งยืน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมเสวนา “เบตเตอร์ ไทยแลนด์ฯ” บนเวทีหลักได้ในวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2565 เวลา 09:00-16:30 น. ทางช่องยูทูบ BetterThailand2022(ลิงก์ https://gowatch.live/BetterThailand2022)

เปิดเวที Better Stage เพื่อคนรุ่นใหม่ พร้อมนิทรรศการโชว์ผลงานภายใต้แนวคิด Better Thailand

นอกจากการเสวนาบนเวทีหลักแล้ว ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมบนเวที Better Stage เวทีสร้างสรรค์ของ
คนรุ่นใหม่
เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม โดยมีวิทยากรในหลากหลายแขนง มาแชร์ความรู้และประสบการณ์สร้างสรรค์ประเทศไทยที่ดีกว่า ในด้านอาหาร สิ่งแวดล้อม วัสดุ ดนตรี และเศรษฐกิจ เพื่อจุดประกายแนวคิดและแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประเทศไทยที่ดีกว่า ให้กับคนรุ่นใหม่ผ่านการเสวนาและกิจกรรมที่น่าสนใจต่าง ๆ ได้แก่

  • การพูดคุยกับ “โตโน่ ภาคิน” ทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ทำอย่างไรให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน”
  • ร่วมสนุกกับเวิร์กชอปการทำอาหาร โดย เชฟชุมพล เพื่อต่อยอดอาหารพื้นถิ่น โดยใช้วัตถุดิบแบบ Plant base
  • การเสวนาหัวข้อ “Future Materials วัสดุเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
  • การเสวนาหัวข้อ “Race to Thailand Net Zero คนรุ่นใหม่ช่วยขับเคลื่อนได้อย่างไร” โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) 
  • เสวนาหัวข้อ“BCG อนาคตสำหรับคนรุ่นใหม่” โดย McKinsey ตัวแทนภาคเอกชน และ Startup
  • การเสวนาหัวข้อ “Restart Engineering นิยามวิศวกรรมศาสตร์ในโลกยุคใหม่” โดยสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • การเสวนาหัวข้อ “Restart Business นิยามธุรกิจในโลกใบใหม่” โดย สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • การแสดง Thai Fighting Spirit โดย depa รวมทั้งการแสดงนาฏศิลป์ไทยร่วมสมัยของกลุ่มศิลปิน 
    “คิดบวกสิปป์”
    และการแสดงดนตรีแนว Asian Pop จากกลุ่มศิลปิน “Asia 7”

พร้อมชมนิทรรศการ “Better Thailand” ที่ได้รวบรวมผลงานสำคัญและโดดเด่นของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 30 หน่วยงานมาจัดแสดง รวม 5 โซน ได้แก่

1) โซนสถาบันการเงิน เสนอมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านการเงิน พร้อมโปรแกรมสินเชื่อตอบโจทย์รายย่อยและ SME

2) โซนหน่วยงานราชการ นำเสนอผลงานสำคัญเพื่อการพัฒนาอนาคตประเทศไทย

3) โซน BCG จัดแสดงโครงการ BCG และการเกษตรแบบ Smart Farming พร้อมการสาธิต Application แพลตฟอร์มรถ EV  

4) โซน Start Up จัดแสดงเรื่องนวัตกรรม Carbon Capture และโครงการลดใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยี AI และ IoT รวมทั้งการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รีไซเคิลและอัพไซเคิล ที่นำพลาสติกเหลือใช้มาผ่านนวัตกรรมและดีไซน์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของแบรนด์ต่าง ๆ และ

5) โซน Bio สาธิตการทำอาหารจากผลิตภัณฑ์ Plant Base จัดแสดงบูท Virtual Reality (VR) Game และ Software เกษตรอัจฉริยะ พร้อมจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสำหรับคนรักสุขภาพ

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการ “Better Thailand” และร่วมกิจกรรมในเวที “Better Stage”  ในวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม เวลา 10:00 – 16:30 น. ณ ชั้น 5 รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน

Related posts