เที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์ : ท่องเที่ยวเชิงเกษตรเรื่องส้มซ่าและผักกะหล่ำปลี บ้านวังส้มซ่าริมน้ำน่าน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

“เที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์” วันนี้มีเรื่องของการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้เชิงเกษตรบ้านวังส้มซ่า ริมน้ำน่านจังหวัดพิษณุโลก มาฝากกันครับ

หลังจากที่ผมจัดรายการวิทยุที่คลื่นข่าว FM100.5 Mhz เป็นประจำทุกวันอาทิตย์ครั้งนี้แล้ว ก็เจียดเวลามาบอกเล่าถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ผมเพิ่งได้มีโอกาสไปเที่ยวและทำงานมาด้วย เมื่อช่วงวันหยุดพักผ่อนยาว 3 วัน 9-11 ธันวาคม 2564 เนื่องจากได้รับเชิญจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก ให้ไปทำข่าวและเก็บข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดพิษณุโลกครับ สำหรับวันนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนบ้านวังส้มซ่า” ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

บ้านวังส้มซ่า” ติดริมน้ำน่าน มีวิถีชีวิตทำอาชีพประมงน้ำจืด ออกเรือหาปลาในแม่น้ำน่านมาตั้งแต่เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พอเข้ามาสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แผ่นดินเมืองสองแควหรือเมืองพิษณุโลก ก็มีชาวจีนไหหลำอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาตั้งบ้านเรือนเพื่อการค้าขายในเมืองพิษณุโลกและสันนิษฐานกันเองว่าชาวจีนไหหลำน่าจะล่องเรือสำเภามาถึงบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้แล้วได้แต่งงานกับคนในหมู่บ้านแล้วนำพันธุ์ส้มชนิดหนึ่งมาปลูกเพื่อเป็นสมุนไพรจีนไว้ใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ต้นส้มเหล่านั้นก็โตและมีรสออกเปรี้ยวจี๊ด กินกันแล้วรู้สึกซ่าๆ ก็เลยเรียกว่า “ส้มซ่า” จนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นชื่อเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “หมู่บ้านวังส้มซ่า” เพราะมีส้มซ่าภายในชุมชนบ้านวังส้มซ่ายังมีโรงเจ มีศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ชาวจีนไหหลำเคารพนับถือด้วยล่ะครับพอๆ กับบรรยากาศสวยมากๆ ของหมู่บ้านนี้

กล่าวถึงผลผลิตส้มซ่าที่มีก็จะออกเยอะประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี ส้มซ่านี้เป็นสมุนไพรจีนมีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น เปลือกหรือผิวส้มมีกลิ่นหอมเป็นเครื่องหอมได้ เนื้อผลส้มทำเป็นน้ำส้มหรือปั่นกับน้ำแข็งรสชาติหอมอร่อยชื่นใจ เดี๋ยวนี้ร้านกาแฟบางที่ก็มีเมนูอเมริกาโน่ส้มซ่า ราคาดีและรสชาติน่าลิ้มรสนะครับ ใบของส้มซ่านำมาตากแห้งทำเป็นชาส้มซ่าได้รสมีกลิ่นหอมมาก ซึ่งทุกวันนี้ชุมชนบ้านวังส้มซ่าได้นำส้มซ่ามาผลิตเป็นเครื่องสำอางเพื่อคุณสุภาพสตรีได้หลายอย่าง เช่น ครีมขัดผิว ยาสระผม ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ของชุมชนบ้านวังส้มซ่าที่ผู้คนให้การยอมรับในสรรพคุณครับ

“น้องแป้ง” นางสาววรัญญา หอมธูป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาดหมู่บ้าน

นอกจากส้มซ่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชนแล้วที่นี่ยังมีชื่อเสียงในเรื่องของ “การปลูกกระหล่ำปลี” อีกด้วย ที่ต้องขอย้อนกลับไปประมาณ 5 – 6 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านวังส้มซ่ามีญาติอยู่ประเทศไต้หวันได้ส่งเมล็ดพันธุ์กะหล่ำปลีมาให้เพื่อทดสอบปลูกในพื้นดินริมน้ำน่าน ปรากฎว่าปลูกแล้วได้ผลผลิตดีมากๆ เพราะดินริมน้ำน่านเป็นดินดีมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์น้ำก็ดีและอากาศเย็นสบาย ผักกะหล่ำปลีก็ชอบสิครับ ก็เลยทำให้กะหล่ำปลีของที่นี่เป็นของดีด้วย จน “น้องแป้ง” นางสาววรัญญา หอมธูป ฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาดหมู่บ้าน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ได้รวมกำลังคิดกับชุมชน จัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนบ้านวังส้มซ่า” โดยเอากะหล่ำปลีมาทำเป็นอาหารเรียก “ไข่ตุ๋นลาวา” ใส่ในกะหล่ำปลีแล้วนึ่งให้สุกรสชาติของกะหล่ำปลีออกมาหวานอร่อยถูกใจคนชอบกินไข่ตุ๋นนะจ๊ะและยังมีอาหารอีกหลายอย่างเมื่อมาถึงบ้านวังส้มซ่าที่ต้องไม่พลาด เช่น ข้าวหอใบบัว กะหล่ำปลีไข่ตุ๋นลาวาและน้ำปั่นส้มซ่ารสอร่อยหอมส้มซ่าถูกใจจริง ๆ ครับ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก จึงขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านไปเที่ยว “บ้านวังส้มซ่า” ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อการเรียนรู้เรื่องราวของส้มซ่าและกะหล่ำปลีนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกคือการล่องเรือไหว้พระพุทธรูปในแม่น้ำน่านพร้อมชมวิวทิวทัศน์แบบสบายใจริมน้ำน่านและก่อนกลับอย่าลืมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปจากส้มซ่าโดยเฉพาะเครื่องสำอางรับรองว่าจะต้องถูกใจแน่นอนครับ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก โทรศัพท์ 055-252742-3 ได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ขอขอบคุณ ผอ.ญาติกา แก้วบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก ที่ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนชมรมนักข่าวท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย “เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้ ถ้าอยากรู้ต้องออกเดินทางไป…กับ…ผมหนุ่ม-สุทน” ขอบคุณและสวัสดีครับ

เรื่องและภาพโดย : หนุ่ม-สุทน รุ่งธัญรัตน์

แฟนเพจเฟสบุ๊ค : https://www.facebook.com/sutonfm100.5/

#ติดตามฟังเรื่องราวการเดินทางเที่ยวทั่วไทยทางคลื่นข่าว100.5fm ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.10-11.00 น.

#ติดต่อวิทยากรด้านการท่องเที่ยวได้ที่ได้ที่แฟนเพจเฟสบุ๊ค

#เที่ยวเพลิน #เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน #bigmaptravel #Tourism local life ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน

Related posts