เดียวดายไร้พัฒนา ณ จุดชมวิว เกาะสิเหร่ภูเก็ต…โดย ปัญญา ไกรทัศน์

เดียวดายไร้พัฒนา ณ จุดชมวิว เกาะสิเหร่ภูเก็ต…โดย ปัญญา ไกรทัศน์

สมัยตอนเป็นเด็ก แม่พาเราสองคนพี่น้อง นั่งรถสองแถวไปยังเกาะสิเหร่ เพื่อไปไหว้พระนอนบนภูเขาของวัดเกาะสิเหร่  ยุคนั้นต้องเดินขึ้นบันได ไม่มีทางรถยนต์แบบทุกวันนี้ แม่เดินตามเราสองคนพี่น้องไม่ทัน แม่นั่งเป็นลม จนพวกเราสองคนต้องลงมาช่วยบีบๆนวดๆ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จนกระทั่งแม่คลายจากความเป็นลม พี่ชายของผมจึงบอกแม่ว่า

“อาม่ะ เดี๋ยวจะเรียนหมอ มาคอยรักษาอาม่ะเอง”

หลังจากนั้นพี่ชายได้เรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนกระทั่งออกมาเป็นหมอและคอยทำหน้าที่ดูแลแม่ในทุกวันทางโทรศัพท์เสมอต้นเสมอปลาย

สมัยก่อน จะข้ามแม่น้ำหรือคลองที่ข้ามกั้นเกาะสิเหร่ ลำบากหนักหนา สะพานข้ามเป็นสะพานไม้ ใช้ไม้โกงกางตอกปักลงในน้ำ จากนั้นใช้หวายมัดสลับลวดเพราะให้ติดกันจนเป็นสะพาน แล้วจึงใช้ไม้กระดานแผ่นพาดลงไปให้ตรงกับช่องล้อ หากรถหกล้อวิ่งผ่าน ต้องลุ้นระทึกว่าสะพานจะหักหรือไม่

ถนนไปยังเกาะสิเหร่จะเป็นถนนลูกรัง สองข้างทางเป็นป่าโกงกาง ทั้งสองข้างจะเป็นลำคลองขนานไปกับถนน เพื่อให้เรือหางยาวออกไปหาปลา

คนที่อยู่บนเกาะสิเหร่ จะถูกล้อเลียนจากเพื่อนฝูงในห้องเรียน และจากคนขายของว่า

เป็นพวกสั่วเต้ง หรือบ้านนอกที่บุรีรัมย์เรียกเซาะกราว

ที่ดินบนเกาะสิเหร่สมัยนั้นไม่มีราคา มีแต่คนไปจับจอง และใครไปสร้างบ้านแถวเกาะสิเหร่จะถูกดูถูกดูแคลนว่ารวยไม่จริง

รายรอบเกาะสิเหร่ทั้งหมดเป็นป่าชายเลนบริสุทธิติดต่อกันยาวไกล

 ลิงที่นี่จึงเป็นลิงแสม อาศัยตามต้นโกงกางและกินผลไม้หรืออาหารที่ลอยตามน้ำมา  ลิงพวกนี้ว่ายน้ำเก่ง ไม่กลัวน้ำแต่กลัวหมา

สองข้างทางสมัยนั้นจนถึงหอนาฬิกาจึงเป็นทะเลหรือป่าโกงกางที่น้ำท่วมถึง ไม่มีบ้านคนเพราะถือว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในสภาพป่าชายเลน

วันเวลาผ่านไป ความเจริญเข้ามาเยือน จากสะพานไม้ที่ต้องวัดความเสี่ยง คนที่นั่งรถสองแถวจะมีพวกชาวเลที่เอาหอยติบออกมาขายในตลาดและพวกประเภทหอยต่างๆเพื่อให้มาทำสิ่งประดับขาย แลชาวบ้านที่จะข้ามมาเอาอาหารการกินไปขายในร้านขายของชำหรือร้านจับโห่ยในครั้งกระนั้น

ความเจริญเข้ามา สะพานไม้ถูกรื้อ สร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแบบปัจจุบัน

ถนนลูกรังที่วิ่งได้เลนเดียว เห็นรถสวนมา รถคันหนึ่งจะต้องหลบในเส้นทางที่แหวกเบี่ยงเอาไว้ให้หลบ รอจนรถอีกคันผ่านผ่านไปได้

 นานเข้าชาวบ้านไปบุกรุก หน่วยงานของรัฐออกบ้านเลขที่ให้ ชาวบ้านเอาไปขอน้ำประปา ขอไฟฟ้าได้ ไม่นานนักมีคนหัวใสเอาไปขอออกเอกสารสิทธิ์และกลายเป็นโฉนดมีการซื้อขายสร้างเป็นบ้านจัดสรร โดยที่ไม่มีเจ้าภาพรายใดที่จะเข้าไปแสดงสิทธิเหนือที่ดินไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ กรมอุทยานหรือกระทั่งกรมธนารักษ์ จนถึงวันนี้

ด้านของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยางในอดีตคือป่าชายเลนและป่าโกงกางยาวเรื่อยไปจนออกทะเล

ว้นนี้ป่าโกงกางมีเพียงแค่ฉากหน้ากั้นนิดเดียวเพื่อบอกว่าที่นี่คือป่าชายเลนน่ะ เหมือนกันกับบริเวณศาลากลางหลังใหม่ที่กำลังกลายเป็นสิ่งชำรุดทางความอัปยศของการก่อสร้างของส่วนราชการที่สร้างค้างเติ่งมาโดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีเวลาไปติดตามและเร่งรัดในการก่อสร้างแถม ปปช.จังหวัดไม่ว่างจะไปดู อาจจะเพราะไปไม่ถูกหรืออย่างไร ต้องไปเรียนถามกันเอาเอง

ลิงในแถบเกาะสิเหร่ จึงต้องออกมาขอทานเพราะอยู่ในยุค

ลิงถูกบุกรุกที่พักอาศัย

ลิงจำนวนไม่น้อยถูกจับไปปล่อยเกาะ แต่เพราะลิงเหล่านั้นเกิดตรงนี้ โตตรงนี้ หากินเป็นตรงนี้พอไปอยู่ตามเกาะหากินไม่เป็น ลิงผอมตาย หรือตรอมใจตายแบบคนนั่นแหละ

ลิงที่เหลืออยู่ยามเย็นหรือเช้าๆ จะออกมานั่งเป็นแถวเพื่อขอทานจากผู้มีจิตเมตตาที่ซื้อกล้วยบ้าง ถั่วบ้าง มาโยนให้กิน และมีบางรายเอาผลไม้มาเททิ้งให้กินเป็นเข่งๆ

ลิงจึงธำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีบัตรประกันสังคม หรือมีบัตรสวัสดิการลิงจนหรือที่เรียกหรูๆว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะมีสปอนเซ่อร์รายใหญ่และรายย่อยคอยเอาอาหารมาทิ้งไว้

รัฐบาลท้องถิ่นยุคหนึ่งจะเอาลิงเป็นฉากสร้างแหล่งท่องเที่ยวจึงสร้างจุดชมลิงขึ้นมา

มีการสร้างศาลยื่นออกไป แต่เป็นเพียงระเบียงยื่นไม่มีหลังคากันแดดและกันฝน มีการติดตั้งป้ายบอกหน่วยงานแต่ไม่มีใครมาบำรุงรักษา วันนี้ป้ายหลุดลุ่ยแบบหนังลิงที่ไร้ขนหลุดเป็นแผ่นๆ เพราะขี้เรื้อนกินหนังลิงทำนองนั้น

 ป้ายแผนที่บอกแหล่งท่องเที่ยวที่เคยรุ่งเรืองในอดีตกลับรุ่งเรืองตามชตากรรมที่ขาดการเหลียวแลในปัจจุบัน

รูปปั้นลิงที่เคยยกย่องลิงในอดีต

วันนี้เหลือไว้เพียงอนุสรณ์แห่งการขาดเยื่อใยในการดูแล

เราต้องการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ท่องเที่ยว

แต่เราไม่อนุรักษ์รักษาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ให้ยั่งยืนและเป็นที่ท่องเที่ยวระดับชาวบ้านจนๆ วันนี้จึงมีแต่ลูกหลานคนงานนักท่องเที่ยวประเภทลองสเตย์ อยู่ทน อยู่นานจนออกลูกและลูกได้บัตรประชาชนไทย ได้สัญชาติไทยกันบานเบอะคือพม่าแวะเวียนเข้ามาให้อาหารลิงสลับกับคนใจบุญที่เอากล้วยมาเทให้เป็นเข่งๆ

รูปปั้นลิงนั่งกินแตงโมอย่างอร่อย แต่ในความเป็นจริง ลิงยังออกมาเป็นลิงขอทานที่ไม่มีขันและแก้วมานั่งขอมีแต่สายตาละห้อยและรอยยิ้มอ้อนขออาหารจากลิงตัวเล็กตัวน้อยและลิงตัวโตที่มักจะลัดคิวเดินมาขอถึงที่ หากไม่ไปแกล้งมัน มันจะนั่งยื่นมือมาขอไม่เคยกัด

ลิงที่นี่ไม่ซน แต่ไม่มีนักบุญที่ไม่เคยนำอาหารมาให้ลิงแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนแต่อย่างใดนอกจากหากมีการสร้างภาพจึงจะมาเพื่อบันทึกภาพออกข่าวแล้วสะบัดตูดจากไปโดยไร้เยื่อใย

ตรงนี้่แหละคือแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของภูเก็ต หากจัดสถานที่จอดรถให้ดี จัดหาจิตอาสาพาคนข้ามถนน คนขี่รถเครื่องและรถยนต์มีจิตเมตตาจอดให้คนข้าม คนขายกล้วยและถั่วต้มจะมีรายได้ ลิงจะอิ่ม คนมาซื้อโปรยทานให้ลิงจะได้บุญกุศล

ในยุคแห่งการปฏิรูปประเทศและสร้างความสงบเรียบร้อยจนวันนี้เรียบร้อยจนเงียบสนิทไม่ค่อยมีคนมาให้อาหารตามแนวปฏิรูป

ทำให้ลิงอดมากขึ้น และมีคนอยากจะเอาลิงไปปล่อยเกาะให้มากขึ้นอีก ทั้งที่คนสนับสนุนรู้ว่าเอาลิงเหล่านั้นไปปล่อยให้อดตาย

ผมมองตรงนี้ว่า หากเราพัฒนาพื้นที่ให้สวยงาม ปรับป่าชายเลนให้ดี ปลูกต้นไม้ผลที่สามารถอยู่ในดินเลนได้ เอาต้นลำพูหรือต้นไม้ที่หิ่งห้อยชอบมาอาศัยเพาะไข่ผสมพันธ์มาอยู่ ตรงนี้จะเป็นพื้นที่ทำเงินทางการท่องเที่ยวชุมชนได้อีกแห่งหนึ่งที่อนาคตเมื่อนักท่องเที่ยวประเภทมาเดี่ยวด้วยรถเครื่องเช่าแวะมา

สามารถทำเงินเข้ารัฐและกระเป๋าชาวบ้านมากมาย

มีใครเคยไปยืนดู และมองให้พื้นที่นี้เป็นเงินเป็นทอง เป็นเหมืองทองเพื่อกอบโกยเงินจากคนต่างชาติที่แวะมาจับจ่ายใช้สอยและคนไทยต่างถิ่นที่แวะมาให้อาหารลิง

เงินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมี แต่ไม่มีคนที่จะคิดพัฒนาให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดท่องเที่ยวชุมชน

ถ้าใครอยากจะให้พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเพื่อนำเงินเข้าประเทศ เสริมสร้างรายได้ให้ประชาชนอ่านแล้วช่วยแชร์ต่อๆน่ะครับ

ทองเกลื่อนพื้นที่ แต่ไม่มีใครก้มไปหยิบเก็บเพื่อมาหล่อหลอมเป็นทองคำแท่งแต่อย่างใด

ทำไงดี

Related posts