ไม่มีอะไรใหม่ในโอท็อป

ไม่มีอะไรใหม่ในโอท็อป ……………..โดย ปัญญา ไกรทัศน์

เมื่อปี ๒๕๔๔ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกว่า OTOP เกิดขึ้นในโลกโดยมีพรรคไทยรักไทยในขณะนั้นเป็นผู้ผลักดันโครงการนี้ แม้ว่า รัฐบาลในระยะเวลาต่อมา พยายามที่จะทำให้สินค้า OTOP ล้มหายตายจากไป แต่ชาวบ้านในต่างจังหวัดหาได้ยินยอมไม่ จึงทำโครงการแบบเสียไม่ได้ในบางรัฐบาล

 ในห้วงระยะเวลาต่อมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดทำโครงการของบประมาณเพื่อดำเนินการในการจัดจดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญาอันประกอบด้วย ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า อนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรขึ้น โดยเรามีโครงการโมบายสัญจรเพื่อรับจดแจ้งให้ฟรีในพื้นที่หลายจังหวัด โดยไปเช่าห้องประชุมของโรงแรมดำเนินในหลายพื้นที่และหลายจังหวัด ผมไปในฐานะผู้ประสานงาน โดยมีการติดต่อเชื่อมกับภายในส่วนกลางเพื่อตรวจสอบว่าการจดแจ้งซ้ำกันไหม่กับองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลกหรือ WIPO

 ห้วงระยะของการรับจดแจ้ง เราถกและเราคุยกันว่า การดำเนินการส่งเสริมผลิตภัณฑ์โอท็อป จะต้องจับมือกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยที่มอบหมายให้กรมพัฒนาชุมชนทำเพราะมีพัฒนาการอำเภอไล่เรื่อยไปจนถึงพัฒนาการจังหวัด กระทรวงพาณิชย์ที่มีศูนย์ส่งเสริมการส่งออกในระดับภูมิภาคและระดับต่างประเทศในสังกัดกรมส่งเสริมการส่งออกหรือในเวลานี้คือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

อดีตที่มีการจัดงานสินค้าโอท็อปไม่ว่าจะเป็นของกรมการค้าภายในที่ออกในรายการธงฟ้าราคาประหยัดหรือกรมพัฒนาชุมชน ผมจะได้รับมอบหมายให้นำทีมเจ้าหน้าที่ไปร่วมออกบูธและนั่นหมายความว่าผมจะต้องออกเดินไปเยี่ยมและพบกับชุมชนที่มาออกบูธในงานโอท็อปที่เกาะการจัดที่อิมแพ็คเมืองทองธานีเสมอมา แต่มีบางครั้งเคยไปจัดในสนามกีฬาแห่งชาติที่ผมคัดค้านว่าจะเจ๊ง ท้ายสุดเจ๊งจริงๆคือกลางวันร้อนระอุไม่มีใครเดิน ตอนเย็นคนกลับบ้านไม่มีใครมาซื้อ แต่มีการออกข่าวว่าประสบความสำเร็จในยอดขายอย่างล้นหลาม

 วันที่ผมมานั่งทำงานในกรมการท่องเที่ยวในฐานะหัวหน้าประชาสัมพันธ์และต่อมาหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน ผมได้เดินงานมากขึ้นเพราะกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนของผมมาออกร้านสม่ำเสมอ

วันที่ผมอยู่กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกไปรับจดแจ้ง เราคุยกันว่า การที่กรมพัฒนาชุมชนไปรวมชาวบ้านเป็นกลุ่มๆเพื่อให้ทำสินค้าออกมา และมีการมอบหมายให้ประธานกลุ่มเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า หากวันไหนมีรายได้่มากขึ้น กำไรมากขึ้น มีการเห็นเงินสดมากขึ้น การแตกแยกจะเกิดขึ้นและท้ายที่สุดจะฆ่ากันตายตรงการแย่งชิงโลโก้ของเครื่องหมายการค้าที่ถูกจดแจ้งในชื่อประธานกลุ่มเป็นเจ้าของแต่ห้วงระยะนั้นไม่มีใครใส่ใจที่จะฟัง และในเวลาต่อมาได้เกิดขึ้นจริงๆแต่ผมก้าวเดินออกมาจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยไปแล้ว

 ระยะหลัง รัฐบาลเทงบประมาณมหาศาลให้ไปทำ โอท็อปนวัตวิถี แต่ดูเหมือนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่กล้าออกมาแถลงข่าวว่าสำเร็จหรือล้มเหลวในเรื่องการเทงบประมาณมหาศาลจนท้ายสุดในรัฐบาลปัจจุบันพยายามจะเปลี่ยนเป็น ประชารัฐ แต่ชาวบ้านพอใจคำว่า โอท็อปเสียมากกว่าประชารัฐ ทำให้จำยอมและจำทนที่จะถอยร่นกลับมาใช้คำว่าโอท็อปเหมือนเดิม

 จากวันก่อนที่มีการจัดงานจนกระทั่งจะสิ้นสุดวันสุดท้ายของการจัดงานในวันที่ ๒๓ ธันวาคมนี้

งานโอท็อปที่อิมแพ็คเมืองทองธานี เป็นอีกงานหนึ่งที่ผมเดินเข้าไปทุกซอยของการค้าใช้เวลากว่า ๔ ชั่วโมง เพื่อมองดูว่า มันเกิดอะไรขึ้นที่ไม่มีคนมาเดินและจับจ่ายสินค้ามากมายนัก

 ผมเดินตอนจัดนาทีทองระหว่างเวลา ๑๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. ผมเห็นแล้ว พบว่า แท้จริงแล้วเจ้าหน้าที่เป็นคนทำให้การค้านาทีทองไม่ออกรสนั่นคือ เจ้าหน้าที่จะห้ามมิให้เปิดขายก่อนเวลาจะต้องห้าโมงเย็นตรงทำให้คนที่ไม่มีเวลาแต่อยากซื้อ กลับซื้อไม่ได้ เดินออกจากงานไป ท่ามกลางการเสียโอกาสอย่างไม่น่าจะให้อภัยของคนขายที่ควรจะได้ตังค์ในขณะที่ขายยาก

ปีหนึ่งโอท็อปจะจัดสามครั้ง ในแต่ละครั้งไม่มีอะไรใหม่ บนเวทีเคยแสดงซ้ำซากเมื่อปี ๒๕๔๔ อย่างไรในปี ๒๕๖๒ ก็ยังคงดำเนินการไปอย่างนั้น

ทั้งที่เปลี่ยนอธิบดีไปไม่รู้สักกี่คนแต่ไม่เคยพัฒนาให้ดีไปกว่านี้

ผมเคยถามชาวบ้านที่มาออกร้านเสมอว่า ในเมื่อชาวบ้านได้รับความเมตตาจากรัฐบาลที่ควักเงินงบประมาณมาจ้างออแกนไนซ์จัดและออกค่าเช่าสถานที่ให้แต่ชาวบ้านจะต้องไปเช่าที่พักเองอย่างต่ำคืนละ ๘๐๐ บาท ค่าน้ำมันรถขนมาเองและจ่ายค่ากับข้าวเอง ทำไมถึงไม่ดำเนินการขายห้องพักโฮมสเตย์ ขายแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

 ได้รับคำตอบจากคนที่มาออกร้านว่า เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบห้ามเอาอะไรมาสอดแทรกให้ขายสินค้าอย่างเดียว

นี่คือความล้มเหลวอย่างไม่น่าจะให้อภัยของกรมพัฒนาชุมชนในฐานะได้รับงบจากรัฐบาลมาจัดงาน แต่กลับมาปิดกั้นการทำท่องเที่ยวชุมชนของชาวบ้านรวมถึงการส่งเสริมและเรียกให้่คนมาซื้อและแวะเที่ยวนอนพักค้างแรมที่โฮมสเตย์

นาทีทองจะคึกคักเพียงแค่ ๓๐ นาทีแรกเท่านั้นจากนั้นคนเบาบาง ไม่เหมือนในอดีตคนจะแย่งเบียดเสียดกันซื้อ

เป็นเรื่องที่กรมพัฒนาชุมชนโดยอธิบดีและรัฐมนตรีมหาดไทยจะต้องหันมาวิเคราะห์ว่า เกิดอะไรขึ้นและทำไมคนถึงลดน้อยถอยลง

แม่ค้าขายข้าวยำที่มาจากสามจังหวัดชายแดนใต้บอกกับผมที่ซื้อข้าวยำสองกล่องว่า ในอดีตขายดี วันละราวสองร้อยกล่อง แต่มาหนนี้ขายได้เก่งสุดไม่เก่งวันละ ๔๐ กล่อง ไม่มีการโปรโมทแต่อย่างใด

 แม่ค้าขายสมุนไพรบอกกับผมที่ยื่นเงินจ่ายค่าเจียวกู้หลาน เก็กฮวยป่าว่า ปีนี้ขายยอดแย่มาก คนน้อย คนเดินดูมากกว่าคนควักเงินซื้อ ในขณะที่คนขายกระเทียมโทนดองบอกกับผมว่าไม่ได้ออกไปขายในนาทีทองแต่จัดนาทีทองที่บูธเองลดราคากิโลกรัมละ ๔๐ บาท ในขณะที่โต๊ะกินข้าวที่จัดไว้ในอดีตจะไม่มีเก้าอี้ว่างแต่หนนี้มีว่างให้เห็นและคนขายอาหารยืนทำตัวเป็นนางกวักเพื่อเรียกให้เข้าไปซื้อ

ผมจ่ายไปราวสามพันบาทสำหรับงานนี้ โดยเน้นของกินที่ต้องกินล้วนๆไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยและของแจกใครในวาระปีใหม่แต่อย่างใดเพราะ

ไม่รู้จะซื้อไปแจกทำไมในภาวะเศรษฐกิจแบบขาขึ้น(ก่ายหน้าผาก)

ความล้มเหลวในการจัดงานโอท็อปหนนี้ และหนที่ผ่านมา ทำให้มองว่า ในกรมพัฒนาชุมชนไม่ได้ยกระดับอะไรขึ้นมา นอกจากเพิ่มองค์การตลาดในสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้มาขายผักและสินค้าบางประการ

ผมไม่เข้าใจว่า กรมพัฒนาชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับชาวบ้านที่สุด ไม่นั่งถกกับทูตพาณิชย์ของกระทรวงพาณิชย์และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศว่า ในปีถัดไป เทรนสินค้าจะไปในแนวไหนอย่างไร เพื่อให้ชาวบ้านปรับตัวไม่ใช่ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ทำปลาส้มมาขาย ปี ๒๕๖๒ ยังมาทำปลาส้มขายแบบเดิมๆที่ไว้ได้ไม่นานในขณะที่จีนพัฒนาตัวเองไปไกลโพ้นหนีไทยเป็นปีแสง

เงินนับร้อยล้านต่อการจัดโอท็อปในแต่ละครั้ง เหมือนกับการละลายแม่น้ำแม้ว่าจะเพียรพยายามแยกเกรด แยกโซนและแยกบทบาท แต่นั่นบ่งบอกถึงการพัฒนาที่ไม่พัฒนา เพราะแทนที่จะสอดแทรกท่องเที่ยวชุมชนเข้าไป ดึงคนมาเดินเที่ยวให้แวะเยือนท่องเที่ยวชุมชนที่ผลิตสินค้ามาวางขายกลับกลายเป็๋นชาวบ้านมานั่งหลับเพราะไม่มีคนซื้อบ้าง ยืนนินทาถึงคนไม่มาซื้อบ้าง

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม วันจันทร์ที่ ๒๓ ธันวาคมนี้จะเป็นวันสุดท้าย แวะเข้าไปอุดหนุน ช่วยซื้อชาวบ้านระดับรากหญ้าที่ดิ้นรนมาขายสินค้าที่ผลิตจากน้ำมือของตัวเองให้ได้ตังค์กลับไปให้่มากที่สุด

อย่าลืมช่วยก้ันคนละไม้คนละมือน่ะครับ แม้ว่า สำนักงานพัฒนาการจังหวัดทุกแห่งและกรมพัฒนาชุมชนจะมีเว็ปไซต์แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้่จริงจังในการโปรโมทงานแสดงสินค้าโอท็อปแต่อย่างใด

หรือท่านผู้อ่านคิดยังไง

Related posts