7 เรื่องของน่ารู้ของนักท่องเที่ยวชาวจีนไว้เจาะใจชาวแดนมังกร

รู้ไหมว่าประเทศไทยคือจุดหมายท่องเที่ยวอันดับ 1 ของเอเชียในใจชาวจีนแผ่นดินใหญ่ โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทยทั้งปี 2016 จะมีจำนวนถึง 10.9 ล้านคน เราลองมาสำรวจพฤติกรรมของชาวจีนที่มาพักผ่อนในเมืองไทยกันว่าเป็นแบบไหนบ้าง เผื่อว่านักการตลาดหลายๆ ท่านอยากจะทำการตลาดให้โดนใจกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนมากยิ่งขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่านักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย นั้นนำพารายได้ที่มีมูลค่าถึง 602,010 ล้านบาท เข้ามาด้วย ถือได้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่น่าสนใจ และ ได้สรุปสำรวจพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนออกมาดังนี้

   

1. ที่เที่ยวในฝัน
จากผลสำรวจจุดหมายปลายทางในฝันของชาวจีน พบว่า ประเทศไทย เป็นอันดับ 1 ที่น่าเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุดในเอเชียคิดเป็น 27% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น 18.8%, มัลดีฟส์ 4.5%, ฮ่องกง 14.3% และสิงคโปร์ 9.6%

2. ชอบมากับทัวร์
นักท่องเที่ยวจีน 53% เดินทางมากับบริษัทนำเที่ยว ขณะที่ 47% ของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวเอง หรือเป็นกลุ่ม FIT (Free and Independent Traveler)

3. ส่วนใหญ่มาไทยครั้งแรก
นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยเป็นครั้งแรกคิดเป็นสัดส่วน 78% ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เคยเดินทางมาเที่ยวไทย หรือกลุ่ม Revisit คิดเป็น 22%

4. รู้จักประเทศไทยได้อย่างไร
นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทยครั้งแรก ส่วนใหญ่จะรู้จักประเทศไทยจากคำแนะนำของบริษัทนำเที่ยวของจีน จากเพื่อน/ญาติที่เคยมาเที่ยวในเมืองไทย และจากเว็บไซต์ท่องเที่ยว เช่น Mafengwo, TripAdvisor เป็นต้น

5. ใช้เงินกับอะไรบ้าง
นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามากที่สุด รองลงมา คือ ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายในกลุ่มค่าบริการสุขภาพ เช่น นวด สปา เป็นต้น

6. สินค้าที่ชอบ
สินค้าที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมซื้อตามลำดับ คือ

กลุ่มสินค้าประเภทเครื่องสำอาง/ครีมบำรุงผิว
กลุ่มอาหารและผลไม้แปรรูป
กลุ่มยารักษาโรค/สมุนไพรไทย เช่น น้ำมันหม่อง เป็นต้น
กลุ่มสินค้าเครื่องแต่งกาย
กลุ่มสินค้าของที่ระลึก

7. พฤติกรรมการจ่ายเงิน
นิยมชำระค่าสินค้าและบริการด้วยเงินสด แต่สัดส่วนการชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านเครื่องมือทางการเงินของจีนอย่าง Alipay และ WeChat Pay มีการใช้ใกล้เคียงกับเงินสด โดยนักท่องเที่ยวจีนมองว่าการที่ร้านค้าในประเทศไทยให้บริการการชำระค่าสินค้าผ่านเครื่องมือทางการเงินของจีนมีผลต่อการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 81.8% เนื่องจากมองว่าช่วยอำนวยความสะดวกทำให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องแลกเงิน และมีส่วนลดจากร้านค้า

นอกจากนั้นภาครัฐของไทยยังมีการทำตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวจีน รวมไปถึงส่วนของภาคธุรกิจทั้งโรงแรม และธุรกิจค้าปลีกที่มีการทำตลาดเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในช่วงของวันชาติจีนต้นเดือนตุลาคมของทุกปีอีกด้วย

ขอบคุณ- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

Related posts