“สสส.-มหิดล-สมาคมกีฬาญี่ปุ่น” ผนึกกำลังครั้งแรกในอาเซียน ต่อยอดกีฬา การละเล่นไทยดั้งเดิม พลิกวิกฤตเด็กไทย “ติดจอ”

สสส.-มหิดล-สมาคมกีฬาญี่ปุ่น” ผนึกกำลังครั้งแรกในอาเซียน

ต่อยอดกีฬา การละเล่นไทยดั้งเดิม พลิกวิกฤตเด็กไทย “ติดจอ”

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผนึกกำลังกับ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล และสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น  ร่วมมือกันส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชน โดยนำ  “การเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการจากแดนซามูไร” (Active Child Program: ACP) มาผสานกับ  “การละเล่นดั้งเดิมของไทย” เพื่อแก้ปัญหาเด็กไทยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูงเกินเกณฑ์ จนเสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพ

ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เผยว่า สสส. ได้นำประเด็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็ก เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ ด้านการส่งเสริมสุขภาพของประชากร และมองว่านี่คือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มีความคุ้มค่าที่สุด ในระยะยาว ปัจจุบันสถานการณ์เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่คร่าชีวิตของประชากรไทยปีละกว่า 7 แสนราย ได้ลุกลาม และคืบคลานมาสู่กลุ่มประชากรวัยเด็ก และเยาวชนมากขึ้น รวมถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของเด็กไทย เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความบันเทิงประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมารท์โฟน แท็ปเล็ต หรือเครื่องเล่นเกม ที่พบว่ากว่าร้อยละ 75 มีพฤติกรรมการใช้ที่สูงกว่าเกินเกณฑ์แนะนำ ทางสุขภาพเข้าขั้นวิกฤต จะนำไปสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางสายตา สมองและการเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคม

จึงได้ร่วมกันทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้กับเด็กในโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อบูรณาการและต่อยอดแนวคิดการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการจากประเทศญี่ปุ่น เข้ากับการละเล่นดั้งเดิมของไทยที่นับวันจะเลือนหายไป อีกทั้งยังช่วยสร้างทางเลือกในการส่งเสริมการเคลื่อนไหวและการมีกิจกรรมทางกายของเด็กไทยอีกด้วย

มร.ชิฮารุ อิบาชิ ผู้จัดการทั่วไปสำนักส่งเสริมการกีฬา สมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ผลจากการใช้แนวคิดการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ ACP กับเด็กๆ ในประเทศญี่ปุ่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเด็กๆ ในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในเรื่องสมรรถนะทางกาย สุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง พัฒนาการตามช่วงวัย ตลอดจนความสุข และรอยยิ้มที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ

ทางสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่นจึงปรารถนา ที่จะถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนแนวคิด ที่เป็นประโยชน์นี้ให้กับประเทศต่างๆ ที่สนใจ ได้นำไปประยุกต์ใช้กับเด็กๆ อย่างเหมาะสมตามบริบททางสังคม ซึ่งรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่จะได้ร่วมมือการทำงานดังกล่าวกับ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน

 

93700139

 

รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า สถาบันฯ มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคม และรองรับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม รวมถึงประเด็นด้านสุขภาพของประชากร กิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จึงเป็นการต่อยอดงานวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนที่ทางสถาบันฯ กับทาง สสส. ร่วมมือกันดำเนินการก่อนหน้านี้ ให้มีความหลากหลายในเชิงกระบวนการ เพื่อนำไปสู่การเผยแพร่ และขยายผลระดับประเทศได้ในอนาคต

นายปัญญา ชูเลิศ หัวหน้าโครงการวิจัย เพื่อพัฒนาต้นแบบส่งเสริมการเล่น ในบริบทไทยเพื่อสร้างทักษะสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ THAI-ACP  ชี้ให้เห็นว่า หลังจากที่ได้ทำการศึกษา เรียนรู้เรื่อง ACP ของญี่ปุ่นแล้ว พบว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อตัวของเด็ก นำแนวคิดเชิงกระบวนการมาผสานและประยุกต์ ใช้ส่งเสริมการเคลื่อนไหวเด็กไทย การละเล่นเด็กไทยและเด็กญี่ปุ่น มีความคล้ายคลึงมาก

นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะพัฒนาทางเลือก เด็กไทยมีความหลากหลายสามารถตอบโจทย์ความต้องการของโรงเรียนได้มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือ เราจะมีกิจกรรมที่ช่วยดึง ความสนใจของเด็กๆ ให้ห่างหรือลดพฤติกรรมการใช้หน้าจอให้น้อยลง กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

นายกฤดรักษ์ ปฐมฐานะกุล รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางกระดี่ กทม. ระบุว่า การส่งเสริมความสมบูรณ์ และแข็งแรงทั้งกายและใจ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องส่งเสริมอย่างเพียงพอ และเหมาะสม เด็กทุกวันนี้มีโอกาสและสถานที่ การเล่นที่จำกัด การใช้เวลาส่วนใหญ่ จึงหมดไปกับอุปกรณ์หน้าจอกระทั่งเรียกได้ว่า “ติดจอ ติดเกม” ทางโรงเรียนมองเห็นและพยายามให้ความสำคัญโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดเชิงสถานที่ เวลา และบุคลากร ตลอดจนกระบวนการจัดกิจกรรม ทางโรงเรียนจึงมีความสนใจ ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ THAI-ACP ครั้งนี้ หวังและเชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าว จะช่วยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกกับเด็กๆ ในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิผล

 

93700137

Related posts