ชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์ เร่งทำ 5 กิจกรรมหลัก

ชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์ เร่งทำ 5 กิจกรรมหลัก

เพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่าย โดยเน้นการผลิตถ่านไบโอชาร์ นำไปปรับปรุงคุณภาพดินเสื่อมโทรมในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ให้มีประสิทธิภาพรองรับการปลูกป่าของ ปตท. รวมทั้งตั้งเป้าให้เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่สามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
นายเสน่ห์ เสาวพันธ์ รักษาการประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ตำบลกำแพง อำเภอเกษตรพิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ตามที่ตำบลกำแพง ได้รับคัดเลือกเข้า “โครงการชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์” หรือ Zero Carbon Community ของอาศรมพลังงานฯ ภายใต้การสนับสนุนจาก มูลนิธิพลังที่ยั่งยืนของกลุ่ม ปตท., บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และ สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ทีมงานจัดประชุมชาวบ้าน และสรุปว่าจะเดินหน้าทำ 5 กิจกรรมหลัก เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ประกอบด้วย กิจกรรมปลูกผักผลิตเห็ด, กิจกรรมปลูกและแปรรูปสมุนไพร, กิจกรรมเกี่ยวกับข้าว,กิจกรรมผลิตกล้าไม้ และกิจกรรมผลิตปุ๋ยถ่านไบโอชาร์
การดำเนินงาน 5 กิจกรรมนี้ เพื่อให้ชุมชนตำบลกำแพง ได้พัฒนาตนเองตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งลดรายจ่าย สร้างรายได้ที่เหมาะสม เกิดการออม นำไปสู่การพึ่งตนเองให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง เกิดการเรียนรู้ในการบริหารจัดการ เพื่อเป็นวิสาหกิจที่มีศักยภาพในการดำเนินงานต่างๆที่สอดคล้องกับการพัฒนา โครงการชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์ในอนาคต”
ทั้งนี้ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ตำบลกำแพง มีสมาชิก 133 ครัวเรือน จาก 12 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่แห้งแล้ง ชุมชนได้พัฒนาตนเองมาตั้งแต่ปี 2553 เริ่มจากกลุ่มสมุนไพรสร้างรายได้ แต่เนื่องจากปัญหาน้ำแล้ง ดินเสื่อม ป่าโทรม ทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผล จึงหันไปพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุมชน ร่วมกับฟื้นฟูสภาพป่า ต่อมาได้ร่วมมือกับสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.ในการปลูกป่าทดแทนต้นยูคาลิปตัสที่กระจายอยู่เต็มพื้นที่ นอกจากนี้ ชุมชนยังได้ช่วยกันหาทุนและออมเงิน แล้วตั้งเป็น 2 กองทุน คือ กองทุนพัฒนาดินน้ำป่า และกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจชุมชน มียอดเงินรวมกันในปัจจุบัน ประมาณ 400,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึง 5 กิจกรรม ดังกล่าว
“การเข้าร่วมโครงการชุมชนต้นแบบนี้ เป็นสิ่งท้าทาย ที่จะทำให้ชุมชนตั้งใจในการแก้ไขปัญหาธรรมชาติแห้งแล้ง ช่วยลดโลกร้อน เกิดประสบการณ์ในการสร้างวิสาหกิจชุมชน เพื่อบริหารกิจกรรม เชื่อว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น ดิน น้ำ ป่า อุดมสมบูรณ์ หากทำได้ ก็จะเป็นตัวอย่างที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้อื่นๆ เพราะพื้นที่ตำบลกำแพงนี้ มีป่ายูคากว้างถึง 4,000 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในเขตนี้”

 

491026

 

 

 

Related posts