สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 พร้อมแถลงข่าว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อภาคการเกษตร และแนวทางแก้ไข

วันที่ 8 ธ.ค.66 สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ณ ห้องรวยปัญญา 2 โรงแรมมารวยการ์เด้น โดยได้รับเกียรติจาก ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ 

จากนั้นทางสมาคมฯ ได้แถลงข่าวเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อภาคการเกษตร และแนวทางแก้ไข ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ผศ.ดร.อนงค์ภัทร สุทธางคกูล และนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ร่วมแถลงข่าว โดยมีนายวิชา ธิติประเสริฐ ดำเนินรายการ

จากปรากฎการณ์เอลนิโญ ทำให้เกิดภาวะภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการผลิตพืช โดยเฉพาะพืชกลุ่มข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต โดยกลุ่มเกษตรกรพืช ทั้ง4 กลุ่ม ได้มีความเห็นร่วมกันว่า ภูมิอากาศในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก่อให้เกิดสภาวะแล้ง และการระบาดของศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อผลผลิตและคุณภาพ โดยพันธุ์พืชที่เพาะปลูกทั้ง4ชนิด ไม่มีพันธุ์ไหนที่ทนแล้ง และ ต้านศัตรูพืชได้ ทำให้เกษตรกรต้องหาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต และไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้วยข้อจำกัดของการพัฒนาพันธุ์พืชด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม หรือ วิธีมาตรฐาน  เป็นการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมที่ต้องการ กับ สายพันธุ์ที่ต้องการปรับปรุง จากนั้นก็มีการคัดเลือกอีกหลายครั้งในรุ่นลูก ก่อนที่จะ ได้สายพันธุ์ที่ต้องการ ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 5 – 10 ปี ขึ้นกับชนิดพืช รวมทั้งต้องใช้พื้นที่ แรงงาน และงบประมาณจำนวนมาก และการพัฒนาพันธุ์พืชด้วยวิธีการดังกล่าว จะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพ

ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการวิวัฒนาการของศัตรูพืช ในบางกรณีอาจไม่มีพันธุกรรมของลักษณะที่ต้องการ ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้

แต่จาก (ร่าง)ข้อเสนอ/เรียกร้อง ของกลุ่มเกษตรกรและนักวิชาการเพื่อขอให้สนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ในการพัฒนาการผลิตพืชบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่ระบุถึง การพัฒนาพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่

อาทิ เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เป็นเทคโนโลยีที่ถ่ายฝากชิ้นส่วนของดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมจากชนิดพันธุ์อื่น ให้กับชนิดพันธุ์พืชที่ต้องการ พันธุ์พืชที่ได้เรียกพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรม มีการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม เพื่อพัฒนาพันธุ์พืชให้มีลักษณะทางการเกษตร และ ทางคุณภาพ ตามต้องการ และในปัจจุบันมีการเพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมบนพื้นที่มากกว่า 1,000 ล้านไร่ ในเกือบ 30 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งยังใช้ประโยชน์เป็นอาหาร อาหารสัตว์และแปรรูป เกือบ 80 ประเทศทั่วโลก สำหรับลักษณะที่นำมาพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรม เช่น ทนแล้ง เพิ่มประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสง ทนทานสารกำจัดวัชพืช ต้านทานแมลงศัตรู , เทคโนโลยีการแก้ไขยีน เป็นเทคโนโลยีที่สามารถปรับเปลี่ยนยีนของพืชได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทำได้ง่าย ใช้เวลาสั้น มีต้นทุนต่ำและ ไม่ต่างจากเทคโนโลยีการกลายพันธ์ รวมทั้งช่วยให้สามารถทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น และเทคโนโลยีการแก้ไขยีน จะแตกต่างจากเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ตรงที่ไม่มีการถ่ายฝากชิ้นส่วนของดีเอ็นเอหรือสารพันธุกรรมจากชนิดพันธุ์อื่น และเทคนิคที่รู้จักกันดี คือ CRISPR  ปัจจุบันพืชที่แก้ไขยีนด้วย CRISPR มีจำหน่ายแล้วในตลาดญี่ปุ่น คือ มะเขือเทศที่มีปริมาณ GABA เพิ่มขึ้น และในตลาดสหรัฐอเมริกา คือ ผักมัสตาร์ดที่ไม่มีรสขม โดยไม่ผ่านการกำกับดูแลเหมือนพืชดัดแปลงพันธุกรรมและพืชแก้ไขยีนชนิดอื่นที่คาคว่าจะเข้าสู่ตลาดภายในปี พ.ศ. 2573 ได้แก่ ข้าวโพดต้านทานการหักล้ม และคาโนลาที่ฝักไม่แตก ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียพืชผลระหว่างการเก็บเกี่ยว

สำหรับด้านการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพ และ การกำกับดูแล พืชที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพ ที่ดำเนินการตามหลักสากล ทั้งในห้องปฏิบัติการ โรงเรือนปิด และในสภาพแปลงเปิด  , ประเทศไทย กำกับดูแลโดยใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ ในด้านสิ่งแวดล้อม ใช้ พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 และ

ที่แก้ไขเพิ่มเติม และในด้านสุขอนามัยของมนุษย์ ใช้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม , ปัจจุบัน มี ร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ……………………

เพื่อควบคุมผลกระทบจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งอยู่ในหมวด 6 ของร่าง พ.ร.บ. ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการกำกับดูแลพืชที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีการแก้ไขยีน ,มีการศึกษามากกว่า 3,000 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมของพืชดัดแปลงพันธุกรรม จาก 30 ปีของการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่า มีความปลอดภัยและ

ยั่งยืน โดยไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงถึงอันตรายหรือปัญหาด้านความปลอดภัย

อีกทั้ง องค์กรวิทยาศาสตร์จำนวน 280 แห่งทั่วโลกได้ประกาศว่า “สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมมีความปลอดภัยพอ ๆ กับอาหารที่ไม่ได้มาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เป็นพิเศษ”

สำหรับอุปสรรคของประเทศไทยที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่

ในมุมมองของนักวิจัย จะมีขั้นตอนการปฏิบัติหรือการกำกับดูแลก่อนการปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมที่ยุ่งยากและซับซ้อน และในมุมมองผู้กำกับดูแลนั้นยังไม่มีความชัดเจนของการกำกับดูแลใน ร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ……………. ส่วนมุมมองของเกษตรกรนั้น การสื่อสารข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้อง ไปสู่เกษตรกร มีน้อยมาก

ทางภาคเกษตรกร จึงมีข้อเสนอ/ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ในภาพรวม ดังนี้ คือขอการสนับสนุนและส่งเสริมการหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูก และต้องการพันธุ์พืชที่ทนแล้งและต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ รวมทั้งคุณภาพที่ดี ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไรก็ตามมาช่วยในการปรับปรุงพันธุ์ แต่ต้องให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และวิวัฒนาการของศัตรูพืช ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการให้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ รวมถึง การคิดต้นทุนการผลิตซึ่งควรคิดต่อหน่วยผลผลิต มากกว่าต่อหน่วยพื้นที่  และแยกเฉพาะพืช

ดังนี้ มันสำปะหลัง ต้องการ การพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อให้ทนแล้งและต้านทานโรคและแมลงศัตรู โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก รวมทั้งให้มีเปอรเซ็นต์แป้งสูง , อ้อย ต้องการวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมทั้งในอ้อยปลูกและอ้อยต่อ รวมทั้งพันธุ์อ้อยที่ทนแล้ง ทน

เค็ม ต้านทานโรคและแมลงศัตรู ผลผลิตและความหวานสูง และมีความสามารถในการไว้ตอดี , ข้าวโพด ขอให้สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะพันธุ์ทนแล้งและต้านทานหนอนกระทู้ลายจุดข้าวโพด เพื่อให้ทันต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และข้าว สิ่งที่อยากเห็น นอกจากในเรื่องของแหล่งน้ำ พันธุ์ข้าว ปัจจัยการผลิต และการให้ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ยังอยากจะเห็น การพัฒนาระบบการผลิตที่รองรับผลกระทบฯ การกำหนดให้นาชลประทาน ให้ทำนาในระบบเปียกและแห้ง และการหาแนวทางและกรอบปฏิบัติในการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่ Cartbon Zero

สำหรับ ข้อเสนอ/ข้อเรียกร้องจากนักวิชาการ

ขอให้มีนโยบายที่ชัดเจนที่สนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยทางด้าน Genomic Technology, Gene Editing Technology, Genetic Engineering Technology และการใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุล รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเจริญเติบโตของพืช โรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อพัฒนาพันธุ์พืชทนแล้ง หรือทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งพันธุ์ที่ต้านทานศัตรูพืช , ขอให้เร่งรัดการออก พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ….

มีการเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาบุคลากร และ การทำงานร่วมกัน เพื่อต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนอกเหนือจากการจัดหาแหล่งน้ำแล้ว ยังต้องพัฒนาระบบการใช้น้ำอย่างประหยัด และการพัฒนาระบบการผลิตที่รองรับผลกระทบฯ เช่น การกำหนดให้นาชลประทาน ให้ทำนาในระบบเปียกและแห้ง รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีที่ลดการใช้แรงงานคน ,.ขอให้มีคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อช่วยกันหาแนวทางและกรอบปฏิบัติ ในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งการนำไปสู่ Carbon Zero จากการผลิตพืช และการซื้อขาย Carbon Credit ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนได้ และขอให้มีการจัดทำโครงการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องทำอย่างต่อเนื่อง

Related posts