สธค.จับมือธนาคารออมสินและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดโครงการ “พัฒนาชุมชน  สร้างอาชีพ และให้คำปรึกษาทางการเงินเพื่อความยั่งยืน”  มุ่งพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชน/ลูกค้ารายย่อย  อบรมสร้างงาน  สร้างอาชีพ พร้อมให้ความรู้ทางด้านการเงินและแหล่งเงินทุน และความรู้คู่โรงรับจำนำ ประเดิมเปิดที่แรกอบรมสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางน้ำผึ้ง  จังหวัดสมุททรปราการ 37 ราย  ลดความเหลื่อมล้ำพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้ยั่งยืน เตรียมขยายอบรมต่อ ในอีก 5 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 5 จังหวัด  คาดสร้างอาชีพให้มากกว่า150 ราย

อังคารที่ 13 มิถุนายน 2566 – สำนักงานธนานุเคราะห์ หรือ สธค.จัดงานโครงการพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ และให้คำปรึกษาด้านการเงิน เพื่อความยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้ความร่วมมือ (Synergy) ระหว่างสำนักงาน ธนานุเคราะห์และธนาคารออมสิน ณ ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นายประสงค์ พันลิมา ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ เป็นประธานจัดงานการพัฒนาศักยภาพความรู้ในการประกอบอาชีพ ด้านการบริหารจัดการชุมชนตามแนวทาง BCG Model ความรู้ทางการเงินและความรู้คู่โรงรับจำนำ ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนำไพรและผลไม้ (จังหวัดลำพูน) 2) วิสาหกิจ ชุมชนแปรรูปจากกล้วยตำบลนิคมสงเคราะห์ (อุดรธานี) 3) วิสาหกิจชุมชนบางน้ำผึ้งโฮมสเตย์(สมุทรปราการ) 4) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มชุมชนมนตรีพัฒนา (ราชบุรี) 5) วิสาหกิจชุมชนยกระดับรายได้เกษตรกร (สุพรรณบุรี) และมอบวุฒิบัตรให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้เข้าร่วมการอบรม

นายประสงค์ พันลิมา ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ กล่าวว่า “สำนักงานธนานุเคราะห์เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีลักษณะเป็นงานสวัสดิการทางสังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและบรรเทาปัญหาทางการเงินเฉพาะหน้าในการขาดแคลนเงินหมุนเวียนที่จะนำไปใช้ ในการดำรงชีพหรือประกอบอาชีพ ซึ่งได้เล็งเห็นความสำคัญต่อการดำเนินภารกิจควบคู่ไปกับการมุ่งเน้นแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม สอดคล้องตามนโยบายรัฐ สำนักงานธนานุเคราะห์ ในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมที่มุ่งเน้นสร้างรายได้และความเจริญความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกับภาครัฐเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นกิจกรรมที่พัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการเข้ารับการถ่ายทอดความรู้และทักษะการประกอบอาชีพจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดคุณค่าและมีประโยชน์สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ มีการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อีกทั้ง BCG Model จะเป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมี นอกจากนี้ การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือ (Synergy) ระหว่างสำนักงานธนานุเคราะห์และธนาคารออมสินที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ โดยจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกันในการขับเคลื่อนดำเนินภารกิจที่ครอบคลุมเชื่อมโยงกันทั้งกลยุทธ์ กระบวนการ ตัวชี้วัด ของทุกภาคส่วน เป็นความมุ่งมั่นในการดำเนินงานที่ตอบสนองทันต่อความต้องการของประชาชน และผู้มาใช้บริการอันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของทั้งสององค์กร เพื่อสร้างความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของสำนักงานธนานุเคราะห์ และธนาคารออมสิน     

ทางด้านนางสุพัตรา  จันทร์ศรี  รองผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์สายงานผลิตภัณฑ์และบริการ  เปิดเผยว่า สำหรับโครงการ“พัฒนาชุมชน  สร้างอาชีพ และให้คำปรึกษาทางการเงินเพื่อความหยั่งยืน”  มุ่งพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชน/ลูกค้ารายย่อย  อบรมสร้างงาน  สร้างอาชีพ พร้อมให้ความรู้ทางด้านการเงินและแหล่งเงินทุน และความรู้คู่โรงรับจำนำ ประเดิมเปิดที่แรกอบรมสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางน้ำผึ้ง  จังหวัดสมุททรปราการ 37 ราย  และลำดับต่อไปจะมีการเปิดอบรมในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปจากกล้วย ตำบลนิคมสงเคราะห์จังหวัดอุดรธานี และต่อไปที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนยกระดับรายได้เกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี  และไปต่อที่ จ.ราชบุรี และลำพูน 

  

การอบรมให้ความรู้ เน้นอบรมด้านอาชีพสาขาต่างๆ สธค.สนับสนุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพ  ตามแต่ละพื้นที่ของวิสาหกิจชุมชน   โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาอบรมให้ความรู้  เพื่อให้ผู้ร่วมอบรมไปต่อยอดทำอาชีพต่อ   สธค.จะให้ความรู้ทางด้านการเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน   โดยมีธนาคารออมสินเป็นแหล่งปล่อยสินเชื่อ   ในขณะที่ ผู้เข้าร่วมอบรมที่ต้องการลงทุนทำอาชีพที่ไม่มีเงินทุนและมีหลักทรัพย์ก็สามารถนำมาจำนำแปลงเป็นเงินทุนได้ซึ่ง สธค. ได้คิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดในธุรกิจโรงรับจำนำ เพียงร้อยละ 25 สตางค์ต่อเดือน (วงเงินไม่เกิน 5,000 บาท) อีกทั้ง ยังมีนโยบายอัตราการรับจำนำทรัพย์ประเภททอง นาก เงิน และรูปพรรณ โดยรับจำนำไม่เกินร้อยละ 87.5 ของราคาทองรูปพรรณในท้องตลาด ซึ่งให้ราคารับจำนำที่สูงขึ้นกว่าเดิม

Related posts