SME จ.พัทลุง ปลื้ม สสว. ส่งเสริมธุรกิจแกร่ง ตบเท้าร่วมจัดกิจกรรมคึกคัก  พร้อมสมัครร่วม “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” จำนวนมาก

               นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธาน เปิดกิจกรรม ส่งเสริมความรู้ และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการการส่งเสริมและสนับสนุน “โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2566” ใต้แคมเปญ “SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 2” จัดโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่เดินหน้ารับสมัครผู้ประกอบการ SME เพื่อขึ้นทะเบียนการได้รับบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ หรือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีการเลือกใช้บริการบนระบบ BDS พร้อมอำนวยความสะดวกขึ้นทะเบียนให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดพัทลุง โดยมี SME กว่า 100 ราย เข้าร่วม เชื่อมั่น สสว.จะช่วยยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้แข็งแกร่ง และเติบโตสู่สากล

นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง

               ภายในงานเมื่อเร็วๆ นี้ จัดขึ้น ณ ห้องประชุมศิวา 1 โรงแรมศิวารอยัล อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ได้รับเกียรติจาก นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธาน ร่วมด้วย นางสาวนิธิวดี สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่าย ผู้ให้บริการ SME และส่งเสริมนโยบายภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) นำทีมผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหน้าที่ สสว. ให้การต้อนรับผู้ประกอบการในจังหวัดพัทลุง ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 ราย และสมัครขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก

นางสาวนิธิวดี สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานเครือข่าย ผู้ให้บริการ SME

               นางสาวนิธิวดี สมบูรณ์ กล่าวว่า สสว. ได้มีการดำเนินงานโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ ผ่านระบบ BDS (Business Developmente Service) ปีงบประมาณ 2566 “SME ปัง ตังได้คืน ปี 2” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่ผู้ประกอบการ SME จะสามารถเลือกรับการบริการหรือรับการพัฒนากับผู้ให้บริการทางธุรกิจ โดยเน้นการสนับสนุน 3 ทาง คือ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด  การพัฒนาตลาดต่างประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน SME ที่เป็นนิติบุคคล หรือผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐ เน้นสาขาธุรกิจของระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีความสำคัญเร่งด่วนในการส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่งปี 2566 นี้ สสว.ได้เน้นการให้บริการเพื่อยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้กับผู้ประกอบการผ่าน 5 หมวด ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้าและบริการ, การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ, การพัฒนาและบริหารธุรกิจ, การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและตลาด การพัฒนาสู่ตลาดต่างประเทศ

               “ไม่เพียงเท่านั้น ยังเตรียมการขยายบริการด้านการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไป ที่สำคัญ การดำเนินงาน SME ปังตังได้คืน ปีที่ 2 นี้ สสว. ยังคงอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนา SME แบบร่วมจ่าย (Co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 วงเงินสูงสุดถึง 200,000 บาท”

นางสาวเกียรติกมล จันทร์โภคาไพบูลย์ เจ้าของโรงงานยาสมุนไพร บวรเวชสมุนไพร

               โอกาสนี้ ผู้ประกอบการหลายรายยังได้เผยถึงความประทับใจที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วย เริ่มที่ นางสาวเกียรติกมล จันทร์โภคาไพบูลย์ เจ้าของโรงงานยาสมุนไพร บวรเวชสมุนไพร และมีแบรนด์เวชสำอางสำหรับผู้สูงอายุชื่อ “อากงอาม่า” เปิดเผยว่า “การมาร่วมงานครั้งนี้ ได้รับคำแนะนำดีๆ หลายเรื่อง โรงงานของเราได้มาตรฐาน GMP/PIC และได้ดำเนินการขอรับรองมาตรฐานไปเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่เป็นต้นทุนค่อนข้างสูงของโรงงานในการผลิตก็คือการส่งตรวจเชื้อต่างๆ เมื่อเข้าร่วมโครงการนี้ เราได้รับเงินงบประมาณเข้ามาช่วย จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตของเราไม่สูงเกินไป สามารถแข่งขันได้ในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างมาก ขอขอบคุณ สสว. และจังหวัดพัทลุงมากๆ ที่จัดโครงการดีๆ แบบนี้ขึ้นมา”

นางมาลี พันธุ์วงศ์

               ด้าน นางมาลี พันธุ์วงศ์ เล่าว่า ปัจจุบัน ตนได้ทำธุรกิจจำหน่ายข้าวสังข์หยด ซึ่งข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ถือเป็นข้าวสังข์หยดอินทรีย์ของไทยพันธุ์แรกที่ได้มาตรฐานและขึ้นทะเบียน GI (สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) “การได้มาร่วมงานครั้งนี้ รู้สึกยินดีและดีใจมากที่ สสว. เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวสังข์หยด โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ เพราะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้อยู่ยังไม่สวยงามเท่าที่ควร ขอบคุณ สสว. เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือให้คำปรึกษาในการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์”

นางสาวกุลริศา คำวิสุทธิ์ เจ้าของแบรนด์ “กระจูดบ้านเรา Original”

               ขณะที่ นางสาวกุลริศา คำวิสุทธิ์ เจ้าของแบรนด์ “กระจูดบ้านเรา Original” จากจังหวัดพัทลุง เผยว่า ผลิตภัณฑ์กระจูดของร้านจะเน้นผลิตเป็นกระเป๋า และรับทำทั้งแบบปลีก และจำนวนมากตามสั่งเพื่อขายส่ง “ที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะปัจจุบัน แบรนด์กำลังจะเริ่มส่งออก จึงต้องการเงินทุนมาสนับสนุน ซึ่งตอนนี้มีความต้องการมากพอสมควร และอยากให้ชุมชนที่ส่งงานให้ทำ มีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีสินค้าจำนวนมากพอที่จะกระจายสินค้าได้มากขึ้น และส่งออกต่างประเทศ หากได้เงินทุนสนับสนุน ตั้งใจจะนำไปดำเนินการจัดหาวัตถุดิบ เพราะทุกวันนี้ไม่ค่อยเพียงพอ อีกทั้งต้องสต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า”

เกศกมล จันทร์โภคาไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บวรเวชสมุนไพร ไทย จำกัด

Related posts