TTIA TPFA ชูแนวทางดำเนินงานด้าน BCG ในอุตสาหกรรมทูน่าและอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยปี 2566 ในงานแสดงสินค้าอาหารระดับโลก THAIFEX – Anuga Asia 2023

กรุงเทพ: 11.00 น. 23 พฤษภาคม 2566 สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (Thai Tuna Industry Association) ร่วมงานแสดงสินค้า THAIFEX – Anuga Asia 2023 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2566 พร้อมประกาศนโยบายขับเคลื่อนBCG Model เป็นวาระหลักประจำปี 2566 ของสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยและสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า THAIFEX – Anuga Asia เป็นประจำทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมสมาคมและเผยแพร่ข้อมูลสมาชิก ให้นักธุรกิจและประชาชนที่เข้าร่วมงานได้ทราบถึงศักยภาพ ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกสินค้าทูน่าอันดับ 1 ของโลก ที่ได้คุณภาพมาตรฐานระดับสากล มุ่งอุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นความปลอดภัยอาหาร จริยธรรมด้านแรงงาน และการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยมีการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนสูญเสียและขยะอาหาร (Food loss food waste) ของอุตสาหกรรมทูน่าไปผลิตเป็นสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเกรดพรีเมี่ยม จนปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับผู้ผลิตและส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมวเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา

ในปี 2566 สมาคมฯ มุ่งเน้นการนำหลักเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว หรือ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) ไปสู่อุตสาหกรรมทูน่าและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงให้มากที่สุด  BCG เป็นนโยบายระดับชาติของประเทศไทย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goal;SDG13 Climate Action, SDG14 Life Below Water, SDG15 Life on Land ) ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change), การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าหากไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้ โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา”

ดร.ชนินทร์ พูดถึงการนำ BCG ไปใช้“อุตสาหกรรมได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัตถุดิบปลาทูน่าทั้งตัว กล่าวคือ มีการนำส่วนสูญเสียไปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าอื่นๆ เช่น น้ำนึ่งปลาทูน่านำมาสกัดเข้มข้นใช้เป็นส่วนผสมเพิ่มความน่ากินในสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง, การนำ by product เช่น tuna red meat ตลอดจน by product จากสินค้าปศุสัตว์ เช่น เครื่องใน โครงไก่ เครื่องในวัว เป็นวัตถุดิบผสมในอาหารสัตว์เลี้ยง, ซากกระดูก ก้างของทูน่า นำไปผลิตอาหารสัตว์  ซึ่งประเทศไทยมีจุดแข็งด้าน supply chain ที่สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้   นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทน, พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงาน เช่น ติดตั้ง Solar roof top, การเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังความร้อนใช้ในระบบทำความเย็นและไอน้ำ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycled) หรือ ทำมาจากผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เช่น กล่องกระดาษ และมีการศึกษาและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไบโอพลาสติกด้วย”

ดร.ชนินทร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญและอยู่ในกรอบการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป(FTA Thai-EU) ด้วย  ดังนั้น อุตสาหกรรมต้องปรับตัว และปฏิบัติตามกฎระเบียบสากล ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปกป้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในมหาสมุทร การลดขยะทะเล ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรอาหารสำคัญของโลก”

ปัจจุบันสมาชิกสมาคมมีการจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับสังคม เช่น นำฝากระป๋องไปบริจาคโรงพยาบาลเพื่อทำขาเทียม, การร่วมกับชุมชนและหน่วยงานราชการในพื้นที่รณรงค์ดูแล ทำความสะอาดขุดลอกคลอง เก็บขยะ, สอนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ให้กับชาวบ้าน, บริจาคอาหารสัตว์เลี้ยงให้แก่ศูนย์ดูแลสุนัขและแมว(Pet Shelter)  นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่สมาชิก ในด้านกฎหมาย กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม, หลักการ BCG, แนวทางการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมและห่วงโซ่การผลิต การศึกษางานวิจัยปัญหาโลกร้อนที่จะส่งผลกระทบต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมทูน่าและอาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และปรับตัวเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างยั่งยืนต่อไป

Related posts