เกษตรฯ จับมือไบเออร์ไทย เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร เสริมประสิทธิภาพการทำงานด้านเกษตร ก้าวสู่การเกษตรยุคใหม่

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ณ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรีโดยมีนายมิสเตอร์เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย นายมิสเตอร์ศรีนาถ บาลา ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระดับภูมิภาค APAC (Regional APAC Head of Field Solution, Bayer Crop Science APAC)พร้อมด้วยตัวแทนตัวแทนจากหน่วยหน่วยงานราชการกระทรวงเกษตร และตัวแทนเกษตรกร ในพื้นที่ ให้การตอนรับ

ทั้งนี้นายประภัตร กล่าวว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดโอกาสในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรในประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของเกษตรกรไทย เพื่อเติมเต็มความรู้เกษตรกรให้ตามทันเทคโนโลยี และนำมาใช้ได้อย่างเข้าใจ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ดำเนินงานโดย บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นแห่งที่ 2 ในภูมิภาคเอเชีย (แห่งแรกตั้งอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์) เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนภาครัฐในการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในการทำเกษตร แผนใหม่ โดยใช้นวัตรกรรม เช่น โดรน สถานีอากาศอัจฉริยะ Digital application สามารถเติมองค์ความรู้ให้เกษตรกรในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวและปลูกพืชอื่นๆจำนวนมาก นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างความมั่นคงของผลผลิต ที่ดีในอนาคต

“กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายที่จะปรับปรุงการผลิตทางการเกษตร เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และสนับสนุนให้เกษตรกรยุคใหม่รู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งเมล็ดพันธุ์ ดิน น้ำ ปุ๋ย รวมถึงลดการใช้แรงงานคน นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯยังมี 5 ยุทธศาสตร์ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตร ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2) ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 3) ยุทธศาสตร์ 3’S (Safety/Security/Sustainability) 4) ยุทธศาสตร์บริหารเชิงรุกแบบบูรณาการทุกภาคส่วน และ 5) ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวศาสตรพระราชา” รมช.เกษตรฯ กล่าว

นายประภัตร บอกด้วยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่กว่า 323 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 149 ล้านไร่ อาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพที่สำคัญของประเทศไทย แต่ปัญหาของเกษตรกรไทย คือ มีต้นทุนการผลิตที่สูง ดังนั้นการลดต้นทุนการผลิตจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากฝากให้ทางบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด คิดค้น พัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ ด้วยความจริงใจและจริงจัง เพื่อผลิตยาและปุ๋ยที่ปลอดภัยต่อการทำการเกษตร เกษตรกร และผู้บริโภค ที่สำคัญให้เกษตรกรเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆอย่างทั่วถึง

ด้านนายเกออร์ก ชมิดท์ (H.E.Mr. Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตสหพันธสาธาณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความยินดีกับความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยเยอรมนีพร้อมสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร เพื่อนำมาปรับปรุงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และขอบคุณกระทรวงเกษตรฯ ที่สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกษตร ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เกิดการการศึกษาวิจัยในอนาคตให้สอดรับกับความต้องการของเกษตรกรไทยต่อไปด้วย

นายศรีนาถ บาลา ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระดับภูมิภาค APAC (Regional APAC Head of Field Solution, Bayer Crop Science APAC) กล่าวว่า ไบเออร์ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยเกษตรกรจำเป็นต้องเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันทางศูนย์ฯ ยังสนับสนุนให้การพัฒนาแนวทางการจัดการศัตรูพืชแบบบูรณาการด้วย

สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร จะเข้ามามีส่วนในการดูแลความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์ การพ่นสารเคมีอย่างถูกวิธีและปลอดภัย นำมาสู่ความปลอดภัยของพืชอาหาร ศูนย์ฯ ยังมีการแนะนำนวัตกรรมการจัดการของเสีย (Phytobac Technology) ที่ช่วยในการบำบัดน้ำเสียจากฟาร์มเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำอย่างยั่งยืนและความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ขณะที่นางสาว จินอา ลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร ได้รับการอนุมัติในการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยบริษัทฯ ได้มีการขยายการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว ข้าวโพด และผักชนิดต่างๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์การเกษตรของประเทศไทยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรศูนย์แห่งนี้จะทำหน้าที่ดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตรในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมที่เกี่ยวกับข้าว ข้าวโพด และพืชผัก สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การเกษตรของประเทศไทย ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เกษตรแม่นยำ (Precision Farming) และเทคโนโลยีโดรน เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมด้านการเกษตรและเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว รับมือกับปัญหาด้านการเกษตรทั้งการระบาดของโรคพืช ศัตรูพืช และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนสนับสนุนในการยกระดับพืชผลทางการเกษตรสู่ตลาดที่มีคุณภาพและมูลค่าเพิ่มขึ้น ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยเปิดโอกาสในการจ้างงานและพัฒนาศักยภาพแก่ประชาชนในท้องถิ่น และเป็นศูนย์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายวีรพล เจริญพานิช ผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจครอปซายน์ ประเทศไทย กัมพูชา พม่า บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวเสริมว่าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร สุพรรณบุรี ถือเป็นศูนย์กลางวิจัยที่ใหญ่ที่สุดของไบเออร์ในประเทศไทย โดยเรามุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้านโรคและแมลงศัตรูพืชในนาข้าว ข้าวโพด และผักใบ เป้าหมายเพื่อทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้สารเคมี ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ มีความปลอดภัยทั้งเกษตรกร และผู้บริโภค

โดยบริษัทฯจะให้ศูนย์ฯแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรถึงวิธีการทำเกษตรปลอดภัย ใช้สารเคมีอย่างถูกวิธี ในเวลาที่เหมาะสม และปริมาณที่ถูกต้อง รวมถึงการให้ตระหนักถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลต่อการทำเกษตรอย่างมาก และมีผลต่อโรคและศัตรูพืช โดยจะกระจายความรู้ไปให้ถึงเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ รู้เท่าทัน ให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดและส่งออกได้มาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับ

“บริษัทฯมีความจริงจังในการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย โดยมีแผนเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ต้านโรคพืชและแมลงโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสัดส่วน 30% ภายใน 10 ปีเพื่อให้สินค้าเกษตรมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค”

Related posts