สกู๊ปพิเศษ : “ครูส้ม” ฝากถึงบรรดาครูให้สอนเด็กด้วยความรัก เพราะเด็กรับรู้ได้ว่าครูรักเขาด้วยหัวใจ

              เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกันมานานได้เห็น ครูส้ม’ หรือ “คณิตา โสมภีร์” ที่ทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ และคนในชุมชนผ่านหน้าเฟซ ล่าสุดที่เห็นบ่อยโพสต์ช่วยเหลือคนในชุมชนช่วงสถานการณ์โควิดระบาดไม่หยุดจนต้องปิดบ้าน แต่เมื่อกลับมาเปิดบ้านรับเลี้ยงเด็กอ่อนอีกครั้งก็ไม่เคยหวังกำไรเหมือนตั้งแต่วันแรกที่เปิดบ้าน ส่วนเหตุผลที่เห็นครูส้มพาเด็ก ๆ ในบ้านมาโพสต์ขายนิยายไม่ใช่หากำไรใส่ตัวเอง แต่หาค่าข้าว ค่าขนมให้เด็ก ๆ ที่รับเลี้ยงได้กินอิ่มท้อง บางทีควักเงินซื้อนมให้เด็กที่เลี้ยงหรือช่วยเหลือผู้ปกครองที่โควิดส่งผลกระทบให้ต้องตกงานก็มีหลายราย หรือแม้แต่ผู้ปกครองไม่มีเงินจ่ายครูส้มก็ไม่เคยตำหนิ เพราะถือว่าได้เลือกจะทำงานที่รักแล้ว ถึงแม้เงินจะเป็นปัจจัยหลักในยุคนี้ หากแต่ความรัก ความสงสารเด็กน้อยตาดำ ๆ ก็มีผลต่อจิตใจของครูส้มมากกว่า ครูผู้เปรียบเสมือน ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ ที่อุทิศชีวิต อุทิศแรงกายแรงใจให้เด็ก ๆอย่างเต็มมาตลอดสิบหกปี เราได้เห็นความทุ่มเทของครูส้มที่มีต่อเด็ก ๆ และคนในชุมชนจึงคว้าตัวครูส้มมาสัมภาษณ์ โดยครูส้มเล่าถึงอาชีพที่รักอย่างหมดเปลือกว่า…

              “ปัจจุบันครูส้มประกอบอาชีพรับเลี้ยงเด็ก (บ้านร่วมพัฒนาเด็ก มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ฯ) โดยรับเลี้ยงเด็กราคาถูกเพื่อช่วยผู้ปกครองในชุมชนและละแวกใกล้เคียง ช่วยเด็กที่ผู้ปกครองที่มีคดีความเคยติดคุกหรือผู้ปกครองหย่าร้าง เป็นเด็กกลุ่มพิเศษ เช่น เด็กสมาธิสั้น  ซึ่งครูมีอีกหนึ่งหน้าที่ คือ การเป็นกรรมการชุมชนและเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนผู้สูงอายุ 11 ชุมชน บวร ราม 39 เป็นผู้จัดการธนาคารเวลาสาขาทรัพย์สินเก่า และครูยังมีหน้าที่ดูแลบ้านรับเลี้ยงเด็กอีก 3 หลังในเครือข่ายบ้านร่วมพัฒนาเด็ก มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ คอยให้ความรู้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับเด็ก ๆ ค่ะ ส่วนงานอดิเรกของครู คือ การอ่านหนังสือค่ะ

              ครูส้มสอนเด็กตั้งแต่แรกเกิด – 4 ปีก่อนเข้าอนุบาลค่ะ เป็นเด็กก่อนปฐมวัย แต่อย่าเรียกว่าสอนเลยค่ะ ให้เรียกว่าดูแลเด็กเพื่อให้มีพัฒนาตามวัยดีกว่าค่ะ โดยหนังสือที่ได้มาจากการสนับสนุนของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ช่วงแรก ๆ  แต่ต่อมาได้รับหนังสือบริจาคจากเพื่อน ๆ ใน Facebook และโครงการรักการอ่านของสสส. ที่เป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็กค่ะ  ครูส้มเลี้ยงเด็กมา 16  ปีแล้วค่ะ และได้รับใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพบริการสุขภาพ อาชีพผู้ดูแลเด็ก มาตรฐานอาชีพ พ.ศ.2560 ได้รับการอบรมจากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ตามหลักสูตรผู้ดูแลเด็กค่ะ ซึ่งครูส้มไม่ได้เป็นครูของรัฐบาลแต่เคยเป็นครูสอนเด็กในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งและได้รับใบประกาศจากรมกิจการเด็กและเยาวชนค่ะ

              ช่วงเวลาครูส้มสอนเด็กวันละ 10 ชั่วโมงค่ะ ซึ่งครูเปิดบ้านประมาณ 07.00 น. และปิดประมาณ 17.00 น.ค่ะ  จากที่ครูส้มทำงานอาชีพนี้ก็สนับสนุนลูก ๆ ให้ทำอาชีพนี้บ้างในตอนที่ลูกยังเล็ก แต่ก็ให้อิสระลูกในการตัดสินใจเลือกอาชีพของตนเองตามความชอบและความถนัดของลูกแต่ละคน โดยลูกสาวคนโตเลือกเรียนพยาบาลเนื่องจากเขาสนใจที่จะเรียนรู้การพยาบาลในผู้สูงอายุและเด็ก ซึ่งเขาจะคอยให้คำแนะนำแก่ครูในเรื่องการดูแลเด็ก ๆ เช่น ด้านโภชนาการ การพยาบาลเมื่อเด็กไม่สบายด้วยค่ะ ส่วนลูกชายคนเล็กเรียนคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เนื่องจากเขาชื่นชอบคอมพิวเตอร์และเขาจะช่วยเหลือครูในการพิมพ์งานเอกสารอยู่บ่อย ๆ ค่ะ

              เหตุผลที่เห็นครูส้มนำนิยายมาขายเพื่อหาค่าอาหาร ค่าขนมให้กับเด็ก ๆ และซื้อของใช้ให้กับเด็กที่มีความต้องการแต่ขาดแคลน เนื่องจากครูเองก็มีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ และครูเลี้ยงเด็กในราคาที่ถูก รายเดือน เดือนละ 1000 บาท รายวัน วันละ 50 บาท ซึ่งบางครั้งก็มีผู้ปกครองเด็กไม่มีเงินมาจ่ายค่าเลี้ยงครูก็เลี้ยงให้ฟรีหรือซื้อของให้เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือบางคน ครูจึงเลี้ยงเด็กอย่างไม่ค่อยได้เงินค่ะ โดยตอนแรกผู้ปกครองรู้สึกเห็นใจครูจึงนำหนังสือนิยายมาบริจาคครูไว้ขายเพื่อเก็บเงินมาเป็นค่าอาหารค่าขนมให้เด็ก ๆ ได้ทานกัน ต่อมาเพื่อน ๆ ในกลุ่มนิยายก็บริจาคเพิ่มมาค่ะ และครูส้มก็นำเงินที่ได้จากการขายหนังสือมาช่วยเหลือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นของใช้ เช่น นมผงบ้าง ผ้าอ้อมสำเร็จรูปบ้าง รวมถึงการจัดกิจกรรมกับเด็ก ๆ และผู้ปกครอง เช่น ประชุมผู้ปกครองจะมีการมอบรางวัลให้คุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลลูกได้ดี เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ปกครองเด็ก กิจกรรมวันพ่อแห่งชาติ กิจกรรมวันแม่แห่งชาติ กิจกรรมวันปีใหม่ กิจกรรมวันเด็ก โดยเหตุผลที่จัดกิจกรรมเพราะครูอยากให้เด็ก ๆ และผู้ปกครองเห็นความสำคัญของครอบครัวที่ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้ปกครองมีการรับรู้ถึงพัฒนาการของลูกและบางครั้งก็มีการจัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนผู้สูงอายุที่ครูดูแลด้วย เช่น กิจกรรมแจกของขวัญในวันปีใหม่ที่มีคุณตาคุณยายผู้สูงอายุมาแจกของขวัญให้กับเด็ก ๆ  ครูมองว่าการทำแบบนี้เป็นความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับซึ่งเป็นนิสัยของครอบครัวครูทุกคนนะคะ

              กับคำถามว่าครูกลัวไหมจะถูกมองว่านำเด็กมาหารายได้เข้ากระเป๋าตัวเอง ครูไม่กลัวค่ะ เพราะครูทำแบบนี้เพื่อเด็ก ๆ ในบ้านและเด็กในชุมชนที่ถูกมองว่าเป็นส่วนเกินของสังคม  แต่ครูคิดว่าการสร้างเด็กในชุมชน คือ ความสุขในใจจริงของครู ซึ่งครูไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ค่ะเพราะครูก็มีรายได้จากการทำงานอื่น ๆ และสามีของครูก็ทำงานเป็นพนักงานบริษัทที่สามารถส่งลูก ๆ เรียนได้  อีกทั้งครูเองคิดว่าการช่วยเหลือไม่ควรจะให้เพียงแค่เด็ก ๆ ในบ้านที่ครูรับเลี้ยงแต่ควรช่วยเหลือเด็ก ๆ ในชุมชนและครอบครัวของเด็กรอบข้างที่เข้ามาขอความช่วยเหลือด้วยค่ะ แม้กระทั่งคุณยายที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กของครูก็เคยมีคดีความเกี่ยวกับยาเสพติดทำให้เคยติดคุกมา 4 ปีได้มาขอทำงานกับครู ครูก็รับเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ๆ ในบ้านและช่วยเหลือดูแลกันมาตลอดไม่เคยทิ้งกันค่ะ

              สำหรับข่าวครูทำร้ายลูกศิษย์ครูเห็นข่าวก็รู้สึกสะอึกและเสียใจทุกครั้ง เนื่องจากครูดูแลเด็กมา 16 ปีทั้งในชุมชนหรือโรงเรียน และจากประสบการณ์ที่เคยสอนหนังสือในโรงเรียนเอกชนก็เห็นพฤติกรรมที่ครูคนอื่นทำไม่เหมาะสมกับเด็ก ๆ ตลอด จึงคิดว่าครูเองจะไม่ทำ  พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ทำอะไรที่ตัวเองไม่ชอบกับเด็ก ๆ เด็ดขาด จากที่เห็นพฤติกรรมของครูสมัยนี้รู้สึกว่าแตกต่างจากคำว่า ครูจริง ๆ เพราะครูเองชอบเล่นกับเด็กและเด็กจะเห็นว่าครูเป็นเพื่อนของเขาด้วย แต่ครูบางคนจะชอบทุบตีต่อว่าทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจของเด็ก ซึ่งในความคิดครูคิดว่าครูเลี้ยงลูกเขาก็เหมือนครูก้าวขาข้างหนึ่งเข้าไปในคุกแล้ว ครูยิ่งต้องดูแลลูกเขาให้ดียิ่งกว่าลูกของครูเองและเด็กยิ่งเล็กยิ่งต้องถนอมความรู้สึกให้มาก เนื่องจากเด็กสามารถจดจำพฤติกรรมของครูหรือคนเลี้ยงได้ ถ้าเลี้ยงดูเด็กด้วยพฤติกรรมไม่ดีเด็กจะจำจนกระทั่งโตและกระทำพฤติกรรมเหล่านั้นออกมาเอง รวมถึงการตีเด็กอย่างไม่มีเหตุผลจะเป็นการตอกย้ำให้เด็กรู้สึกไม่ดีหรือยิ่งอยากทำพฤติกรรมไม่ดีมาเอาชนะ โดยครูเองก็เคยโดนว่าและโดนครูตีอย่างไม่มีเหตุผลจนยังจำความรู้สึกตอนนั้นมาถึงทุกวันนี้เลยค่ะ ทำให้ครูคิดว่าเด็ก ๆ คงรู้สึกเหมือนกัน ดังนั้นครูจึงควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก ๆ ไม่ใช่กระทำตนตามอำนาจตามใจอันนี้เป็นสิ่งที่ครูไม่ชอบมากค่ะ ถ้าครูไม่ดีแล้วเด็กจะดีได้อย่างไรคะ

              จากสถานการณ์โควิดมีผลกระทบมากค่ะ เพราะพี่เลี้ยงของครูติดเชื้อโควิดตั้งแต่สถานการณ์รอบแรก ครูจึงเป็นคนคอยส่งข้าวส่งน้ำให้ทั้งครอบครัวและครูต้องเปลี่ยนจากบ้านรับเลี้ยงเด็กเป็นศูนย์ประสานงานโควิดที่ประสานกับโครงการรักการอ่าน เพื่อหาถุงยังชีพ ยา อาหารกล่อง เครื่องมือวัตถุดิบทำครัวกลางให้แต่ละชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อโควิดและคนที่กักตัว ซึ่งครูเองก็มีค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนที่ต้องจ่ายเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดมาทำให้ครูต้องปิดบ้านหลายเดือนไม่สามารถเลี้ยงเด็ก ๆ ได้จึงขาดรายได้แต่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านค่าน้ำค่าไฟตามปกติ ทำให้สามีครูต้องช่วยจ่ายค่าเช่าบ้านและมีเพื่อน ๆ ช่วยโอนเงินจ่ายค่าเช่าบ้านค่าของใช้ให้แก่เด็กที่ผู้ปกครองขาดรายได้ให้เด็กได้มีของใช้ดำรงชีพ และสถานการณ์โควิดทำให้ครูรู้สึกเหนื่อยมาก ๆ แต่ก็ดีใจที่ได้ช่วยเหลือเด็กกับผู้ปกครองในหลายชุมชนที่ต้องกักตัวบ้างติดเชื้อแล้วรักษาตัวที่บ้านบ้างค่ะ

              เวลานี้ในชุมชนที่ครูอยู่จะมีการทำขนมไว้ขาย ซึ่งมาจาการที่สมาชิกและผู้สูงอายุแต่ละชุมชนลองทำขนมทานแล้วครูช่วยซื้อและได้นำมาโพสต์รีวิวลง Facebook จนมีคนอื่น ๆ สนใจสั่งซื้อและกลายเป็นการรวมกลุ่มขายสินค้าของแต่ละชุมชนใน 11 ชุมชนทาง Facebook ชื่อว่า “กลุ่มซื้อร้อย 11 ร้าน” โดยครูจะทำหน้าที่แอดมินโพสต์ขายสินค้าในกลุ่มและนำขายสินค้าเวลาไปร่วมงานต่าง ๆ เพื่อหารายได้ให้กลุ่มและชุมชนค่ะ

              กับคำถามคิดอย่างไรกับคำพูดที่ว่า เป็นครูงานหนัก ครูคิดว่าเป็นครูนอกกรอบยิ่งเหนื่อยยิ่งหนักกว่าครูในระบบค่ะ เพราะครูนอกกรอบอยู่นอกระบบที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นบ้านรับเลี้ยงเถื่อนที่ไม่สามารถจดทะเบียนรับรองได้ เนื่องจากสภาพบ้านมีน้ำคลำและไม่เหมาะสมกับการเลี้ยงเด็กตามมาตราฐานของรัฐ ไม่มีห้องแยกเด็กแต่ละวัย แต่ครูก็ยังทำต่อเพราะรู้สึกว่าถ้าครูไม่ทำแล้วใครจะทำเพื่อให้เด็ก ๆ ในชุมชนได้มีที่เรียน มีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย แม้ว่าครูจะไม่เคยได้รับกำไรจากการเลี้ยงเด็กได้เพียงคำขอบคุณเท่านี้ครูก็รู้สึกพอใจแล้วค่ะ ทุกวันนี้ครูควักเงินในกระเป๋าตัวเองถ้าเด็กไม่สบายครูจะไปเยี่ยมนำนมไปให้บ้าง นำเงินไปให้ผู้ปกครอง บางรายครูหางานให้ผู้ปกครองก็มี แต่ก็มีเด็กบางคนที่ครูต้องซื้อนมผงให้เพราะพ่อแม่ทิ้งเด็กให้ยายเลี้ยงแล้วยายทำงานปั๊มน้ำมันรายได้ต่อวันไม่พอซื้อนมให้หลานค่ะ และครูเลี้ยงทั้งเด็กไทยเด็กต่างชาติจึงมีปัญหาเลิกงานช้ากว่าเวลาที่ครูรับเลี้ยง ซึ่งครูจะส่งให้คุณยายพี่เลี้ยงไปดูแลเด็กต่อที่บ้านแล้วคิดค่าเลี้ยงต่อวันละ 20 บาทเพื่อให้คุณยายมีรายได้เสริม แต่หากผู้ปกครองไม่มีจ่ายครูก็ออกเงินจ่ายให้คุณยายเองอยู่บ่อย ๆ ค่ะ ครูก็จะช่วยเหลือกันไปในแต่ละคน แต่ละปัญหาเท่าที่ครูสามารถช่วยได้มาตลอดค่ะ  และในวันที่ 5 เมษายน ที่จะถึงครูส้มจะไปร่วมงานเสวนาในหัวข้อ “พลังการอ่านฟื้นวิกฤตเด็กปฐมวัย” บนเวทีในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 & สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 จัดที่สถานีกลางบางซื่อค่ะ

              ท้ายนี้ครูอยากฝากถึงคนอาชีพเดียวกันว่า ครูควรดูแลเด็กด้วยหัวใจอย่างเข้าใจในตัวตนและสอนเด็กด้วยความรัก ความเอาใส่ใจเหมือนกับการดูแลลูกของเราเองค่ะ เพราะเด็กก็มีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างกับผู้ใหญ่และรับรู้ได้ว่าครูรักเขาเลี้ยงดูเขาด้วยหัวใจค่ะ

Related posts