สส. ยกชุมชน ‘บ้านรางพลับ’ เป็นต้นแบบจัดการขยะครบวงจร แห่งแรก เมืองราชบุรี

นางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธีเปิด  ศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ชุมชนบ้านรางพลับ จ.ราชบุรี ชุมชนปลอดขยะ รางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2562 ซึ่งนับเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งแรกของ จ.ราชบุรี ที่จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยขยายผลการจัดการขยะอย่างยั่งยืนสู่ชุมชนต่างๆ ต่อไป

    นางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในปีนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ขยายผลการจัดการขยะอย่างยั่งยืนไปยังโรงเรียนและชุมชนด้วยการยกระดับโรงเรียนและชุมชนปลอดขยะ รางวัลถ้วยพระราชทานฯ ประจำปี 2562 ขึ้นเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ รวม 5 แห่งด้วยกัน ได้แก่

1. ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียนหัวตะพานวิทยาคม จ.อำนาจเจริญ \

2.ศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐาน จ.ขอนแก่น

3. ศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ ชุมชนบ้านดอนกลอย จ.นครราชสีมา

4.ศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ ชุมชนบ้านโนนกล้วยหอม จ.ขอนแก่น และ

5. ศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ ชุมชนบ้านรางพลับ จ.ราชบุรี

    ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ชุมชนบ้านรางพลับ นับเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งแรกของจังหวัดราชบุรี เป็นชุมชนปลอดขยะ รางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2562 ประเภทชุมชนขนาดใหญ่ เป็นต้นแบบการจัดการขยะอย่างครบวงจร ด้วยหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ภายใต้แนวคิดการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) มีทัศนคติที่ดีต่อการจัดการปัญหาขยะ ที่ว่า “การคัดแยกขยะเป็นหน้าที่ของทุกคน” จึงกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นต้นแบบความยั่งยืนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนนำมาซึ่งความมั่งคงทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน

     การปราบขยะมาอย่างต่อเนื่องของชุมชน ทำให้ปริมาณขยะลดลงอย่างมาก โดย 4 ปี ของการดำเนินงาน   (ปี 2558 – 2561) ขยะลดลงถึง 10 เท่า ตลอดจนทุกคนในชุมชนมีความรักสามัคคี เกื้อกูลแบ่งปันกัน ช่วยกันคิดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ต่างๆ กลายเป็นวิถีปลอดขยะในทุกครัวเรือน กิจกรรม/ผลงานโดดเด่น เช่น การปลูกผักรับประทานเอง การใช้    น้ำหมักและปุ๋ยหมักทำการเกษตรแทนการใช้สารเคมี  ลดการใช้พลาสติกและโฟมในร้านสะดวกซื้อที่ขายของ รวมทั้งตลาดนัดชุมชน ตลอดจนหิ้วปิ่นโตเข้าวัดช่วยลดขยะเมื่อมีงานบุญ อีกทั้ง จัดให้มีจุดรับบริจาคขยะรีไซเคิล มีการนำวัสดุใช้แล้วไปประดิษฐ์หรือแปรรูปที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมทั้ง นวัตกรรม “ถังหมักรักษ์โลก” “บ่อพักรักษ์น้ำ” “กระถางปลูกพืช” และ “ถังแยกเศษอาหารและไขมัน” ที่ช่วยดักไขมันก่อนปล่อยน้ำทิ้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ เทศบาลตำบลกรับใหญ่ยังมีแผนการพัฒนาแนวคิดจัดการขยะ Reduce Reuse และ Recycle    เข้าสู่หมู่บ้านอื่นในสังกัด เพื่อขยายเครือข่ายให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ชุมชนมีความเข้มแข้งและเกิดความร่วมมือ ใน 4 ด้านพ้อมกัน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ต่างจากพลังการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น     ในหลายแห่งทั่วโลก

Related posts