ถึงพี่น้องชาวภูเก็ตทุกท่าน……………….จาก  ปัญญา ไกรทัศน์

การไม่เตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคติดต่อรุนแรงในด้านอุปกรณ์ป้องกันชีวิตและการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ของหน่วยงานก็ดี ของภาครัฐก็ดี ผนวกกับการเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ กักตุนเพื่อปั่นราคา และกักตุนเพื่อลักลอบส่งออกต่างประเทศของนักฉกฉวยกำไรบนความทุกข์ยากและความตายของเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติก็ดี

ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่แม้นจะระมัดระวังเพียงใด แต่อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ไม่พร้อม ไม่มี ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องติดเชื้อ บางครั้งอาการหนักเกินการเยียวยาถึงขั้นบุคลากรทางการแพทย์ต้องถึงแก่ชีวิตก็มีและเห็นบ่อยมาก

           หวัดค้างคาวโคโรน่า โควิด 19

กลายเป็นโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนล้มหายตายจากไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด ร่ำรวยหรือยากจน ไม่มีข้อยกเว้นกระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับ

เริ่มต้นจากดินแดนเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และคนในดินแดนนั้นเมื่อเห็นโรคระบาดก็แตกฮือ หนีตายออกจากชาติตัวเองในคราบนักท่องเที่ยวไปซุกตัวเองในดินแดนที่หิวกระหายนักท่องเที่ยวและเงินตรารายได้จากการท่องเที่ยวจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ลืมแม้นกระทั่งจะเตรียมการป้องกันตนเอง ถึงขั้นปริปากว่า แค่หวัดธรรมดา ไม่มีอะไรให้ใช้ชีวิตปกติธรรมดา จนผู้บริหารกิจการรัฐท้องถิ่นในภูมิภาคย่ามใจประกาศนโยบายโอเค โนแมส และกลายเป็น

การระบาดลุกลามอย่างไร้จุดหมาย

แทนที่รัฐจะอุดจุดหมายหลักในการกระจายเป็นเบื้องต้น กลับปิดจุดกระจายท้ายสุดจนแพร่กระจายไปยังดินแดนต่างๆ และทำการตรวจวัดคัดกรองจากคนที่สัมผัสและหลงระเริงใจกับตัวเลขคนป่วยที่ลดลงทั้งที่ความเป็นจริง

ไม่มีใครทราบตัวเลขที่แท้จริง

แต่ผู้บริหารรัฐกลับทำงานแบบต้วมเตี้ยมตุ้ยนุ้ยยักย้ายส่ายพุง

บุคลากรทางการแพทย์

กลัวตายเป็น กลัวติดเชื้อเหมือนกัน

เห็นบทเรียนโทนโท่ว่า ใครติดเชื้อจากการรักษาคนไข้กันบ้าง เกิดอาการหวาดหวั่นบนความหลีกเลี่ยงหน้าที่ไม่ได้ กลัวว่าถ้าเชื้อกัดปอดเมื่อไหร่ โอกาสตายมากกว่ารอด

อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องสวมใส่ป้องกันตัว หายากเพียงใด ราคาสูงเพียงใด ย่อมเป็นความจำเป็นต้องควานหามาสวมใส่ และหากไม่สวมใส่ถอดออกเพื่อไปซื้อหาสิ่งของนอกโรงพยาบาลแล้ว บางสิ่งบางอย่างก็ต้องโยนทิ้งและรีบอาบน้ำฆ่าเชื้อ ก่อนที่จะต้องออกไปหาข้าวทานข้างนอกที่สังคมจะมองด้วยสายตาหวาดระแวงว่า

จะเอาเชื้อมาแพร่ไหม?

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฉลอง ตำบลฉลอง อำเภอเมือง ภูเก็ต

เดินข้ามถนนจากโรงพยาบาลเพื่อมาควานหาร้านทำอาหารเพื่อส่งบุคลากรทางการแพทย์ทั้งโรงพยาบาลทุกคนในจำนวนวันละ 80 กล่อง โดยจะมีเจ้าหน้าที่เดินมารับที่ร้าน ด้วยเหตุผลสุ่มเสี่ยงเกินไปหากไปส่งแล้วติดเชื้อออกมา

ชุดสวมใส่เมื่อใส่ไปแล้ว จะถอดออกหลายอย่างต้องทิ้งทันที เช่นถุงมือ หน้ากากอนามัย ถุงเท้ารองเท้า และบางสิ่งบางอย่างที่หายากและราคาแพงลิบลิ่ว

เจ้าของร้านในฐานะเพื่อนเรียนชั้นมัธยมต้นกับผมในโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยรุ่น 315-517 ได้หารือเพื่อนในรุ่นว่า เรามาร่วมเรี่ยไรสมทบทำอาหารกล่องเลี้ยงบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลฉลองกันไหม วันละ 80 กล่อง จะคิดราคากล่องละ 30 บาทในราคาต้นทุน หรือตกวันละ 2,400 บาท

เราช่วยกันลงขันกันและเอาเงินกองกลางสมทบได้ 32,000 บาท ประมาณการว่า ช่วยได้ไม่เกิน 15 วัน

ผมจึงตัดสินใจนำเรื่องนี้ มาบอกกล่าวส่งข่าวให้ทุกท่านในภูเก็ตที่พอจะมีกำลังร่วมสมทบเพื่อจัดทำอาหารส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฉลองได้ทานทุกวัน และ

ได้รับความเมตตาจากหลายคนช่วยกันโอนเงินมาสมทบ

เพื่อยืดระยะเวลาและกำลังในการผลิตอาหารป้อนบุคลากรทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลฉลอง

ภายใต้ความระแวดระวังของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่กล้ารับอาหารซี้ซั้วเพราะเกรงว่าจะมีเชื้อโคโรน่า โควิด 19 ปนเปื้อนและจะไม่เป็นการ Save บุคลากรทางการแพทย์

ในฐานะคนหนึ่งที่ซื้อแมสปกติธรรมดาทำจากโรงงานมาตรฐานในไทยจากตลาดมืดกล่องละ 790 บาท หรือแบบ N95 ชิ้นละ 200 บาท แถมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือหรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อหายากกว่ายาบ้าเสียอีก เข้าใจ เห็นใจ บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนอย่างยิ่ง

ท่านที่พอจะมีกำลัง ศรัทธาร่วมสมทบทำอาหารเลี้ยงบุคลากรทางการแพทย์ เชิญน่ะครับ ตามกำลังทรัพย์ที่ทำแล้วไม่เดือดร้อน

เมื่อประดาบุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำเข้าเวรทุกวันเพื่อป้องกัน รักษาโรคให้คนภูเก็ตและต่างถิ่นต่างชาติ

เราก็ควรเป็นทัพหลังส่งเสบียงเกื้อหนุนกันให้เขามีแรงใจ แรงกายสู้ต่อไป

เชิญน่ะครับ

ไม่ยกเว้นกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะโอนเงินมาสมทบสักห้าร้อยบาท ทุกคนจะปลาบปลื้ม

ด้วยความเคารพในการวางเป้าหมายไปสู่ภูเก็ตคนป่วยเป็นศูนย์ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563

นับถอยหลังเหลืออีก 18 วัน

ท้องฟ้าจะสีทองผ่องอำไพ เราจะได้ออกไปหาเงินใช้หนี้ มีข้าวไข่เจียวยาไส้ในยุคโชติช่วงชัชวาลย์ตูดบานทวารแหกแบบนี้

ด้วยความเคารพต่อผู้ติดตามอ่านจะมีจิตเมตตาช่วยๆกันแชร์ จะเป็นพระคุณยิ่ง

Related posts