สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2561

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระ เจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2561 ในวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.26 น. ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวนทั้งสิ้น 1,805 คน ประกอบด้วย ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 16 คน ระดับปริญญาโท จำนวน 48 คน และระดับปริญญาตรี จำนวน 1,741 คน

โอกาสนี้ สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้อนุมัติปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน ได้แก่ นายแพทย์ สุขุม กาญจนพิมาย ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคนิคการแพทย์ และนายกัมพล ตันสัจจา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภูมิสถาปัตยกรรม

นอกจากนี้ ยังมีบัณฑิตที่ได้รับเหรียญรางวัล จำนวน 27 คน ผู้ได้รับรางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนนักศึกษา จำนวน 4 คน ผู้ได้รับโล่กิตติการ จำนวน 3 ราย และเข็มประกาศเกียรติคุณอาจารย์ดีเด่น จำนวน 3 คน

ในการนี้ พระราชทานพระโอวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ความว่า “ความรู้ในหลักวิชาที่บัณฑิตได้ศึกษาจากมหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาโดยทั่วกันแล้วนี้ จัดว่าเป็นความรู้เฉพาะด้านเฉพาะสาขา ตามหลักสูตรที่แต่ละคนได้เล่าเรียนมา แต่ในการทำงานนั้น นอกจากจะต้องใช้ความรู้ในสาขาวิชาที่เฉพาะเจาะจงลงไปแล้ว ยังต้องอาศัยความรู้อื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือความรู้รอบตัว ตลอดจน ความก้าวหน้าทางวิชาการและข่าวสารข้อมูลต่างๆ บัณฑิตทุกคนเมื่อออกไปทำงาน จึงต้องมีความมุ่งมั่นพากเพียร ที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมโดยไม่หยุดยั้ง ให้มีความรู้ทั้งด้านลึกทั้งด้านกว้างและข้อมูลข่าวสารที่ทันการณ์ทันสมัย นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องฝึกฝนอบรมคุณธรรม ให้เจริญงอกงามขึ้นในตนด้วย เพราะคุณธรรมความสุจริตจะคอยกำกับประคับประคองบุคคล ให้นำความรู้ไปใช้แต่ในทางที่ดีที่ถูกต้อง เพื่อให้ บังเกิดผลที่ดีที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ทั้งแก่ตนเองเเละส่วนรวม ถ้าทำได้ดังที่กล่าวมานี้ บัณฑิตก็จะมีความรู้เป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้สำเร็จผล และมีคุณธรรมเป็นเครื่องป้องกันตนให้ห่างพ้นจากความชั่วความเสื่อม แต่ละคนก็จะสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ คือความดีความเจริญที่แท้ ให้แก่ตนเอง แก่สังคม และแก่ประเทศชาติได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน”

Related posts