สดช. จับมือ สปสช. พัฒนาการใช้ประโยชน์ Big Data หวังต่อยอดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเชื่อมโยงเทคโนโลยีในอนาคต

นายอนุทิน   ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นพยานในพิธีลงนามใน “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ” ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และสนับสนุนการดำเนินงานด้าน Big Data สำหรับหน่วยงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นในการช่วยเหลือการพัฒนาทางด้านสาธารณสุข และระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น พัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลภาครัฐให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถบูรณาการและให้บริการข้อมูลข้ามหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว ปลอดภัยและควบคุมได้ ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต โดยมี ดร.ปิยนุช วุฒิสอน  เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ลงนาม ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562

  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พิธีลงนามในวันนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความร่วมมือกันในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านสุขภาพระดับประเทศ โดยใช้เทคโนโลยี Big Data ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลปริมาณมาก และซับซ้อน การนำเทคโนโลยี Big data เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ และการวิเคราะห์ข้อมูล ให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลา ทั้งนี้ ขอฝากถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำกับดูแล ติดตามความก้าวหน้า เนื้อหาสาระที่บรรจุในระบบให้เสร็จสิ้นตามกำหนดและตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน

 ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ทั้งสถาบันเชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ได้พัฒนาเป็น Smart Hospital โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหาร และอำนวยความสะดวกในการจัดบริการประชาชน เช่น การจองคิวออนไลน์ ระบบนัดหมาย แจ้งเตือนการฉีดวัคซีน ค้นหาเวชระเบียนออนไลน์ด้วยบัตรประชาชน การบันทึกข้อมูลผู้ป่วย ใช้ข้อมูลเดียวกันทั้งโรงพยาบาลและคลินิกหมอครอบครัว รวมทั้งระบบการรักษาทางไกล (Tele Medicine)

ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นการผลักดันด้านนโยบายการพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยมีความตื่นตัว เรื่อง Big Data อย่างกว้างขวาง องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเริ่มปรับตัว และเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคของ

การวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่ง Big Data รวบรวมข้อมูลจำนวนมากมาประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูล และนำไปใช้ประโยชน์ เช่น Dashboard, Data Portal, Analytics with AI และ Data Studio เป็นต้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามยุทธศาสตร์ชาติ ยินดีและพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาทักษะและความรู้บุคลากรภาครัฐ ให้คำแนะนำ ปรึกษา

 ทั้งนี้ สดช. จะให้การสนับสนุนในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 1. การวางระบบ พัฒนา ออกแบบ บูรณาการ (Consultancy Services) โดยจะให้คำแนะนำปรึกษาและร่วมดำเนินการในการบริหารจัดการและเตรียมการโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือ เพื่อการจัดหา จัดเก็บข้อมูล และการบูรณาการข้อมูลให้เกิดการเชื่อมโยงในอนาคต 2. ให้การสนับสนุนในการพัฒนาทักษะและความรู้บุคลากรภาครัฐ เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการข้อมูล การพัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีด้านการประมวลผลข้อมูล และเทคนิคการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์จากข้อมูล รวมทั้งการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ และ 3. การบริการนำร่องด้านการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล (Analytics and Visualization Initiative Services) โดยจะให้ความช่วยเหลือในการเลือกโจทย์หรือคำถามที่เหมาะสมกับงานและข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน การวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์เชิงพยากรณ์หรือคาดการณ์ผลลัพธ์ที่อาจจะเกิด

  สปสช.จะให้การสนับสนุนข้อมูลการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่มีการเข้ารหัสข้อมูลภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย ว่าด้วยคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลการรักษา ข้อมูลผลตรวจเลือด ข้อมูลการส่งเสริมป้องกันโรค เป็นต้น พร้อมกันนี้ได้ร่วมกันกำหนดรูปแบบ (Patterns) และปัจจัยสำหรับใช้ในการจัดทำต้นแบบทางคณิตศาสตร์กับประชากรในจังหวัดต่าง ๆ  โดยจะดำเนินการ ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากร เช่น จำนวนโรงพยาบาล จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ เตียงคนไข้ ข้อมูลการวินิจฉัยโรค เพื่อนำมาวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งการจัดทำในส่วนของ Dashboard เพื่อวิเคราะห์ในมุมมองต่าง ๆ ในหลากหลายด้านของข้อมูล

Related posts