แลนาข้าวเขียวขจี เดินท่องริมน้ำโขง แดนดินถิ่นเชียงคาน

กิน-เที่ยว-บ่น อาทิตย์ 14 กุมภาพันธ์ 2559

                       แลนาข้าวเขียวขจี เดินท่องริมน้ำโขง แดนดินถิ่นเชียงคาน

เส้นทางจากกรุงเทพเข้าสู่สระบุรี ผ่านลำนาราย์เข้าเพชรบูรณ์ ผ่านหล่มสัก เข้าหล่มเก่า สู่จังหวัดเลย ขับผ่านด่านซ้าย ภูเรือ ก่อนจะมุ่งหน้าผ่านบ้านนาอ้อ เข้าสู่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

อดีตที่ผ่านมา เชียงคานเป็นอำเภอชายแดน ยามใดที่กระทบกระทั่งระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในยุคที่เปลี่ยนถ่ายการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ ผู้คนจากลาวหลั่งไหลอพยพหนีภัยสงคราม กระสุนปืนครกบ้าง กระสุนปืนใหญ่บ้าง จะหล่นแถวสนามหญ้าหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงคานบ้าง สนามหญ้าหน้าสถานีตำรวจเชียงคานบ้าง ละแวกแถบนี้จึงมีหลุมหลบภัยให้เห็นจนถึงวันนี้

ร้านค้าเก่าแก่ในอดีตที่เคยขนสินค้าข้ามไปขายฝั่งลาวถนนสายในริมแม่น้ำโขงในอดีต วันนี้คึกคักด้วยคนไทยและคนต่างถิ่นที่เข้ามาเพื่อเที่ยวและเยือน

อารยธรรม วัฒนธรรมพื้นเมืองจึงเปลี่ยนมือไปบ้างเพราะทุนจากกรุงเทพเข้ามากว้านซื้อที่ดินและบ้านเพื่อสร้างโรงแรมรองรับ

ผ้านวมอันเลื่องชื่อของเชียงคาน ยังเป็นสินค้าตัวหลักเพราะเมืองเลยปลูกฝ้ายมากมายในอดีต ราคาตกต่ำจึงมีการนำฝ้ายมายัดในผ้าที่เย็บเป็นถุงและนำมาใช้เป็นผ้านวมในขนาดน้ำหนักสามกิโลกรัมบ้าง สองกิโลกรัมบ้างและห้ากิโลกรัมบ้าง จำนวนไม่น้อยของผู้คนที่นำรถยนต์มาจะซื้อผ้านวมกลับและกว่าผ้านวมที่ซื้อไปหนหนึ่งจะพังและขาดเป็นเวลาสิบปีพ้น

ร้านอาหารริมโขงกลายเป็นร้านอาหารของคนต่างถิ่นที่เข้ามาเยือนและอัดแน่นในยามหน้าเทศกาลแต่หน้าปกติกลับไม่ค่อยจะพลุกพล่านด้วยผู้คนสักเท่าไหร่นัก

ถนนเส้นเดียวของเมืองเชียงคานริมแม่น้ำโขง บางวันมีนักเรียนจากโรงเรียนเชียงคานมาเล่นดนตรีเพื่อหาเงินสมทบทุนเพื่อสร้างหรือช่วยสังคมอะไรต่างๆตามแต่ศรัทธาของผู้คนที่เดินผ่าน

หลายบ้านไม่ทำการค้า แต่หลายบ้านเปิดบ้านและทำห้องที่เหลือใช้ข้างบนให้เป็นกลายเป็นที่พักและสถาปนาขึ้นมาเป็น

โฮมสเตย์ สารพัดแห่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการ โดยไม่ใส่ใจมาตรฐานจากหน่วยงานไหนทั้งสิ้นเพราะถือว่า มีคนเข้ามาพัก หารายได้สะดวก

เลยจากถนนสายเดียวริมแม่น้ำโขง จะเป็นแก่งคุดคู้ที่อดีตจะเป็นทางลงท่าเรือเพื่อข้ามไปยังลาว และผู้คนนิยมแวะเวียนเข้ามาเพื่อ

ทานส้มตำ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง และลาบ

มองข้ามแม่น้ำโขงเห็นสาวลาวกำลังนุ่งผ้าถุง ซักผ้าและอาบน้ำริมฝั่งโขง มองออกไปแล้วเพลิดเพลินใจไม่น้อย

เรือหางยาววิ่งข้ามฟาก บ้างก็พานักท่องเที่ยวข้ามไปเที่ยวฝั่งลาว บ้างก็พาชาวบ้านสองฟากฝั่งไปส่ง อดีตไม่มีการกำหนดราคาแต่วันนี้มีการกำหนดราคาที่ชัดเจน

ขยะยังคงถูกทิ้งลงไปยังพื้นล่างของผาสูงของแก่งคุดคู้ มีแต่คนโยนทิ้งแต่ไม่ค่อยจะมีคนคิดเก็บทิ้งแต่อย่างใด

แก่งคุดคู้วันนี้มีการทำกุ้งทอดเป็นแพขายกันเกร่อพอๆกับการแปรรูปมะพร้าวในรูปของมะพร้าวเส้นบ้าง มะพร้าวคลุกน้ำตาลบ้าง จนกลายเป็นสินค้าโอท็อปของแก่งคุดคู้และเมืองเลยในวันนี้

เลยจากแก่งคุดคู้เข้าสู่เส้นทางอำเภอปากชมที่อดีตจะมีบ้านวินัยเป็นหมู่บ้านผู้อพยพชาวลาวที่จำนวนมากมายได้อพยพเข้าไปยังประเทศแคนาดาและอีกหลายประเทศ

ก่อนจะถึงตัวอำเภอปากชมที่ถนนไม่เคยพัฒนาและขยายตัว

จะมีก้อนหินใหญ่อยู่สองก้อนเป็น ศิวลึงค์โบราณ ที่มีคนสร้างอาคารไว้กันแดดและกันฝนจากในอดีตตั้งทิ้งตากแดดและตากฝน แต่มีคนมากราบไหว้และขอโชคขอลาภเอาแป้งมาถูขอหวยกันเป็นว่าเล่น

ถนนเชียงคานสายในอันเป็นถนนสายหลัก จะมีบ้านพักมากมายเรียงรายกัน

บ้างเป็นบ้านพักของครูในโรงเรียนแถวย่านเชียงคานที่มีบ้านพักมาแต่โบร่ำโบราณก่อนพัฒนาขยายห้องพัก ขยายบ้าน กั้นห้องเพื่อทำเป็นห้องพัก และมีที่ทานอาหาร

ร้านอาหารจำนวนไม่น้อยขยายกิจการ

คนต่างถิ่นต่างจังหวัดหอบเงินหอบทองเข้ามาลงทุนทำให้ค่าครองชีพของเชียงคานขยับตัวขึ้นชนิดที่ชาวบ้านแทบจะตามไม่ค่อยทัน

เลยจากถนนใหญ่เข้าไป ชาวบ้านยังคงทำนา

แต่ยังมีชาวเชียงคานไม่น้อยที่เกาะกระแสทุนขยายเข้าด้วยการประกาศขายที่ดินบ้าง ขายบ้านบ้าง

เพื่อเอาเงินก้อนใหญ่ย้ายไปหาที่ตั้งใหม่

กระแสการท่องเที่ยวที่เข้ามาแบบโหมกระหน่ำ การขายของกินในตลาดสดเชียงคานที่เคยซบเซาในอดีตกลับคึกคักในวันนี้

ที่จอดรถกลายเป็นปัญหาสำคัญของย่านท่องเที่ยวของเชียงคานที่ถนนคับแคบ คงอาศัยลานวัดไว้จอดรถยนต์ในยามค่ำคืน

หากพัฒนาแบบไร้ควบคุมระวังจะเป็นแบบอำเภอปาย แม่ฮ่องสอน

 

IMG_3469

IMG_3440

IMG_3444

IMG_3453 IMG_3467

IMG_3469

IMG_3473

IMG_3476

IMG_3490

IMG_3511

IMG_3430

Related posts

Leave a Comment