เปิดปก..อกนักเขียน : “ธนัดดา สว่างเดือน” – ( หนิง/เอรี่ ) ธนัดดา สว่างเดือน

เปิดปก..อกนักเขียน

“ธนัดดา สว่างเดือน”เผยชีวิตโสเภณี! สู่หนังสือ 4 เรื่อง 4 แสบสันต์

 

ปกติสัมภาษณ์นักเขียนนิยาย แต่ครั้งนี้เจอนักเขียนเกี่ยวกับที่ประสบมา ทุกเรื่องน่าอ่านและติดตาม สำหรับเจ้าของนามปากกา“ธนัดดา สว่างเดือน” ตัวจริงคือ ธนัดดา สว่างเดือน ชื่อเล่น หนิง หรือ เอรี่  โสเภณีสู่นักเขียน ตีแผ่เรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาร้อยเรียงเป็นตัวหนังสือสนุก ตื่นเต้น เคล้าน้ำตา ล่าสุดปล่อย 4 เรื่อง 4 รสชาติแสบสันต์ต่างกัน อย่าง“ฮ่องกงดงมาเฟีย”, “เกลั้งครั้งเดียวเข็ด” , “เจแปนแสนสาหัส” และ “บาห์เรนเดนโลกีย์” เชื่อว่า…มีนักอ่านชื่นชอบเรื่องราวชีวิตจริง! ที่นักเขียนประสบมาอย่างโชกโชน เขียนไปร้องไห้ไปทุกเรื่องราว โดยหนิงเปิดอกพูดคุยหมดเปลือกว่า

 

2a

 

“ปัจจุบันเขียนหนังสืออย่างเดียวเลยค่ะ นักเขียนในดวงใจที่เป็นแรงบันดาลใจคือ คุณ รอนดา เบิร์น เธอเขียนหนังสือ เดอะซีเคร็ต เกี่ยวกับกฏแห่งแรงดึงดูด หรือกฏเกณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังพิเศษที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในตัว และเธอก็เป็นแรงบันดาลใจให้หนิงเขียนหนังสือแนวนี้ ซึ่งจะเป็นผลงานเล่มต่อไป  หนังสือเล่มแรกที่เขียนชื่อ ‘ฉันคือเอรี่กับประสบการณ์ข้ามแดน’ ใช้นามปากกา ‘ธนัดดา สว่างเดือน’’ เป็นหนังสือเล่าประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง เกี่ยวกับการค้าบริการทางเพศ และเส้นทางคุกตะราง เหตุผลที่เขียนเพราะส่งเข้าประกวดชิงเงินรางวัล จะได้นำไปใช้หนี้เพื่อนสองหมื่นบาทเป็นค่าตั๋วเครื่องบินกลับเมืองไทย เนื่องจากถูกตำรวจส่งตัวกลับจากประเทศ ด้วยข้อหาค้าบริการและพำนักอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย หนิงเขียนหนังสือมา 7 ปีแล้วค่ะ มีผลงานทั้งหมด 11 เล่ม ใช้นามปากกา ธนัดดา สว่างเดือน มาตลอด กระทั่งปีที่ 5 ได้ส่งผลงานเล่มใหม่เข้าประกวดชิงรางวัลชมนาดครั้งที่ 2 เรื่อง “ขังหญิง” ซึ่งได้รับรางวัลอันดับ 1 อีกเช่นกัน โดยเล่มนี้ใช้นามปากกา “นวกันต์” เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลตีพิมพ์ทั้งหมด 14 ครั้ง  ซึ่งหนังสือที่เขียนและพิมพ์เป็นเรื่องจริงทุกเล่มค่ะ เช่น 1. ฉันคือเอรี่กับประสบการข้ามแดน (ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ, มาเลเซีย, เวียดนาม,จีน )  2. ฉันคือเอรี่กับประสบการณ์ท่องคุก  3. ฉันคือเอรี่กับประสบการณ์ใหม่ไกลเกินฝัน  4. ตะรางและหว่างขา  5. เมียยากูซ่า  6. เอรี่เล่าเรื่อง ถนนสีดำในบาห์เรน  7. ขังหญิง (เล่มนี้ส่งเข้าประกวดรางวัลชมนาดรอบ 2 )  8. ฮ่องกงดงมาเฟีย  9. เกล้้งครั้งเดียวเข็ด  10. เจแปนแสนสาหัส  11. บาห์เรนเดนโลกีย์

 

3a

มีหนังสือเคยถูกซื้อลิขสิทธิ์จะไปทำละครเรื่อง“ฉันคือเอรี่กับประสบการณ์ข้ามแดน” แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถนำไปสร้างได้ เพราะตกลงราคากันไม่ได้ค่ะ เขาให้แค่หลักหมื่น ถือเป็นการประเมินค่าประสบการณ์หนิงถูกมากค่ะ  ถามว่าหนังสือเล่มที่เขียนแล้วชีวิตรู้สึกอยู่ในขั้นเสี่ยง? ถ้าเสี่ยงเกี่ยวกับกระทบกระทั่งผู้มีสี หรือผู้มีอิทธิพลทั้งกฎหมายและขบวนการมาเฟีย ก็ถือว่าเสี่ยงทุกเล่มค่ะ แต่ก็พยายามเขียนให้เป็นกลางที่สุดค่ะ ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสียของทุกฝ่าย ด้วยเหตุนี้กระมัง จึงไม่เคยมีใครออกมามีปัญหากับหนิงค่ะ หรืออาจเป็นเพราะหนิงออกมายืนอยู่ที่แจ้งมั้งคะ  สำหรับหนังสือที่สร้างชื่อคือ เล่ม 1 เกี่ยวกับเส้นทางค้าบริการทางเพศ และเส้นทางคุกตะรางค่ะ ส่วนเรื่องที่ประทับใจที่สุดและถึงกับกลั้นน้ำตาไม่อยู่ก็ประทับใจเล่มที่ 1 และเล่มที่ 7 มากค่ะ แต่ถึงอย่างไรทุกเล่มก็เขียนไปร้องไห้ไปด้วยค่ะ ที่ร้องหนักสุดคือ เล่ม 1 เพราะเป็นการเล่าเรื่องที่น่าอับอายครั้งแรก และต้องเริ่มต้นเขียนแผ่นใหม่หลายครั้ง เพราะน้ำตาหยดลงกระดาษแล้วน้ำหมึกจากปากกากระจายไปทั่วจนลบไม่ได้ (เนื่องจากใช้ปากกาเขียนด้วยมือ ตอนนั้นยังพิมพ์ไม่เป็นค่ะ) และงานเขียนของหนิงเป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ดังนั้นทุกประเทศที่ไปทำงานมีการผจญภัยและเสี่ยงชีวิตตลอดค่ะ ส่วนใหญ่จะข้องเกี่ยวกับพวกมาเฟีย ทั้งกลุ่มเพื่อนร่วมงานที่ฆ่าแกงกันเอง และจากลูกค้าโรคจิต ซาดิสม์ วิตถาร สารพัดที่จะเจอค่ะ

 

4a

จากที่เขียนหนังสือจากเรื่องจริง หนิงคิดว่าจรรยาบรรณของนักเขียนที่พึงกระทำคือ?  ควรรับผิดชอบกับงานเขียนของตน ควรเขียนจากข้อมูลจริงและไม่คัดลอกงานเขียนของคนอื่นมาเป็นงานของตัวเอง ที่สำคัญคือการส่งต้นฉบับควรให้ตรงต่อเวลาค่ะ  การนำหนังสือไปมอบให้ทัณฑสถานหญิง เพราะผู้พ้นโทษส่วนใหญ่ออกจากคุกมาแล้วจะเคว้งคว้าง ไม่มีที่ไป ไม่มีพื้นที่ให้ยืน เพราะสังคมไม่ให้โอกาสอย่างแท้จริง คนกลุ่มนี้มักจะคิดว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรจะเสีย จึงคิดไปตายเอาดาบหน้า และช่องทางหาเงินที่ง่ายที่สุดสำหรับพวกเธอก็คือ การค้าบริการทางเพศ แต่นั่นคือ นรกอีกขุมหนึ่งที่เลวร้ายกว่าการถูกจองจำอิสรภาพ ซึ่งพวกเธอคาดไม่ถึง ดังนั้นหนิงจึงอยากให้พวกเธอได้รับข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับงานค้าบริการ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อพวกขบวนการค้ามนุษย์ การนำหนังสือไปบริจาคเป็นความคิดของหนิงเองค่ะ บังเอิญวันนั้นได้มีโอกาสไปพูดคุยกับพี่ๆ ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ พี่ๆ จึงช่วยกันซื้อบริจาคให้กับสถานพินิจหญิงประมาณ 14 แห่ง และครั้งนั้นได้มีโอกาสพบ คุณสุรางค์รัตน์ จิราธิวัฒน์ ท่านกล่าวว่า “ตอนนี้หนิงมีความฝันอยากจะทำอะไรบ้าง?” หนิงจึงนำเสนอเรื่องนี้แก่ท่านค่ะ ซึ่งท่านก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านชอบช่วยเหลือเกี่ยวกับสตรีด้วยค่ะ ก็ไม่คิดว่าท่านจะเมตตาช่วยซื้อหนังสือชุดใหม่ที่เพิ่งออก นำเข้าห้องสมุดทุกเรือนจำทั่วประเทศค่ะ  หนิงคิดว่าผู้ต้องขังที่อ่านหนังสือได้รับรู้ถึงความเลวร้ายของอาชีพขายบริการจนพวกเธอต้องตัดความคิดอยากขายบริการออกไปจากชีวิต เนื่องจากมีหลายคนที่กำลังจะเข้าสู้เส้นทางขายบริการ แต่พออ่านเรื่องเล่าของเอรี่ หลายคนเขียนข้อความมาขอบคุณหนิงที่ดึงพวกเธอไม่ให้ก้าวพลาดพลั้งไปค่ะ  ส่วนเรื่องที่อยากเขียนตอนนี้คือ เรื่องกฎแห่งแรงดึงดูด คือพลังพิเศษจากธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในตัว ซึ่งพวกเขาสามารถเปลี่ยนชีวิตให้เป็นในแบบที่ตนต้องการได้ทุกอย่าง เพียงแต่พวกเขาไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน และเป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตอันเหลวแหลกของหนิงที่ผ่านๆ มา จึงทำให้หนิงได้มารับรู้เรื่องนี้จากธรรมชาติค่ะ การเขียนหนังสือของหนิงแต่ละเรื่องอันดับแรกคือ วางเป้าหมายก่อนว่า เราจะสื่อถึงอะไร และผู้อ่านจะได้อะไรกับเรื่องที่เราเขียนบอกค่ะจากวันนั้นจนวันนี้ชีวิตดีขึ้นมีความสุขดีค่ะ ที่ไม่ต้องทำงานแบบนั้นไปยันแก่ และจมอยู่กับความทุกข์ ตอนนี้อยากทำประโยชน์เพื่อสังคมมากกว่าค่ะ ไม่สนใจเรื่อเงินแล้วค่ะ ตอนนี้หนิงอยู่คนเดียวค่ะ ไม่มีครอบครัว แต่ถ้าเป็นครอบครัวแบบ พ่อแม่พี่น้อง อันนั้นเขาดีอยู่แล้วค่ะ ซึ่งไม่เกี่ยวกับหนิงอ่ะค่ะ  ประสบการณ์เลวร้ายที่ผ่านมาสอนให้เรารู้ว่าต้องรักตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง อันนี้สำคัญมากๆ และเวลามีปัญหาหนักๆ หนิงมักจะคิดว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไปค่ะ  หนิงเคยพบ อาจินต์ ปัญจพรรค์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2534 จังหวัดนครปฐม เป็นผู้ประพันธ์เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่)  คือ สนพ.เอาหนังสือเล่มแรกของหนิงไปให้ท่านอ่าน พอท่านอ่านจบก็บอก สนพ. ว่าอยากพบหนิง พอหนิงไปพบท่านๆ ชมว่า ‘เขียนหนังสือเรื่องเศร้าให้เป็นเรื่องตลก’ พอได้ยิน อ้าว! มันเป็นอย่างนั้นเหรอ 555  และท่านก็เซ็นหนังสือของหนิงพร้อมมาร์กแก้ไขไว้หลายแห่งในหนังสือ ท่านบอกให้หนูเขียนหนังสือต่อไป เป็นความดีใจที่หนังสือทำให้คนขำและมีความสุข อีกทั้งคนระดับท่านชมหนังสือเราค่ะ  และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตก็คือ การได้เข้าเฝ้าองค์ภา ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้หนิงต้องทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังจนทุกวันนี้ค่ะ

 

5a

 

หนังสือเล่มล่าสุดเรื่อง“ฮ่องกงดงมาเฟีย”, “เกลั้งครั้งเดียวเข็ด” , “เจแปนแสนสาหัส” และ “บาห์เรนเดนโลกีย์” สำนักพิมพ์ประพันสาสน์ และหนังสือทุกเล่มที่หนิงเขียนจากชีวิตจริงนั้น ผู้อ่านสามารถนำมาปรับเปลี่ยนในการดำเนินชีวิตของตัวเองได้ค่ะ และเป็นการบอกเตือนไม่ให้ผู้หญิงหรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ก้าวพลาดเข้าสู่วงจรอุบาทว์สายนั้น อันที่จริงแล้วเรื่องนี้ตัวผู้ขายบริการหลายคนก็อยากบอก อยากเล่า อยากระบายความทุกข์ของตัวเองนะคะ แต่ไม่มีใครกล้าพอที่จะเปิดเผยตัวตนค่ะ   ถามชีวิตตอนนี้ช่วง 7 ปีที่ผ่านมาหนิงอยู่เมืองไทยตลอดค่ะ แต่ก็มีบ้างที่เดินทางไป ตปท. ส่วนใหญ่ไปท่องเที่ยวอย่างเดียวค่ะ ส่วนเรื่องข้อมูลการค้าบริการ หนิงจะออกไปตามสถานบันเทิงทุกระดับ เพื่อไปดูว่าปัจจุบันนี้ผู้หญิงและวัยรุ่นเขามีวิธีการขายบริการในรูปแบบไหนบ้าง และก็ไปตาม ตจว. ที่มีหมู่บ้านขายบริการค่ะ  ที่พี่ถามว่าอาชีพนักเขียนเลี้ยงตัวเองได้ไหม? ความคิดหนิงขึ้นอยู่ว่าคนนั้นเป็นมืออาชีพ เป็นคนดังที่มีคนติดตามเยอะหรือเปล่า หรือถ้ามีพื้นที่ให้ลงตามคอลัมน์ต่างๆ ก็พออยู่ได้ แต่เชื่อว่าก็ไม่ถึงกับสบายมากหรอกค่ะ ตอนแรกๆ ที่เข้าสู่วงการน้ำหมึกก็รู้เลยว่าเป็นอาชีพที่ได้เงินน้อยมาก ถ้าเทียบกับงานที่เคยขายบริการถึงเดือนละเป็นแสน และเทียบจากงานอื่นๆ ที่เคยทำเงินขั้นต่ำหมื่นขึ้น (แต่ถ้ายึดแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงก็น่าจะอยู่ได้ค่ะ)

 

6a

 

หนังสือที่ไม่มีวันตาย หนิงคิดว่าแนวการ์ตูนแฟนตาซีจินตนาการ แนวความรักเพ้อฝัน และหนังสือเกี่ยวกับการให้กำลังใจ การหาช่องทางรวยไม่มีวันตายค่ะ ส่วนหนังสือประเภทที่ได้รับความสนใจจากนักอ่าน หนิงว่าแนวความรัก ชีวิตคู่ วิธีมัดใจคู่รัก และเรื่องบนเตียง (ที่คนส่วนใหญ่อยากรู้ แต่อายและไม่กล้าที่จะถามใคร)  กับคำพูดที่ว่า ‘นักเขียนไส้แห้ง’ ตอนแรกๆ ที่เข้าสู่วงการน้ำหมึก รู้เลยว่าเป็นอาชีพที่ได้เงินน้อยมาก บอกตัวเองเสมอว่า เราคือนักเขียนไส้แห้ง แต่ทุกวันนี้ที่เขียนเพราะเกิดใจรักและมีความสุขกับการบอกเล่าเรื่องในมุมมืดที่ไม่ค่อยมีใครเขียน จึงต้องตัดเรื่องรายได้ออกไปค่ะ  กรณีสำนักพิมพ์ทยอยปิดตัวน่าจะส่งผลกระทบกับนักเขียนรุ่นเก่าที่ยังไม่มีความถนัดด้านการตลาด แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของนักเขียนรุ่นใหม่ไฟแรงที่จะแสดงฝีมือในการแจ้งเกิดได้ง่ายขึ้นและสามารถทำธุรกิจงานเขียนให้กับตัวเอง โดยมีช่องทางการสร้างรายได้หลายวิธีด้วยกัน ซึ่งจะมีรายได้มากกว่าการเขียนส่ง สนพ.ค่ะ  เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ หนิงเคยโดนค่ะ มีคนเอาไปทำการ์ตูนเดอะซิมในโลกโซเชียลด้วยนะคะ วินาทีแรกคือโกรธมาก (ต้องเอาเรื่องมันให้ได้!) แต่ไม่กี่นาทีต่อมาก็รู้สึกดีใจและขอบคุณเขาที่ช่วยนำเสนอตีแผ่เรื่องของเราให้มีคนรู้จักมากขึ้น หนิงคิดว่าถ้านักเขียนมีเอกลักษณ์ในการเขียนงานเป็นของตน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีนะคะ เพราะผู้อ่านจะรู้ว่าใช่เราหรือไม่ใช่  นักอ่านสามารถติดตามผลงานได้ที่เพจ “ฉันคือเอรี่” และสั่งซื้อหนังสือได้ที่หนิง หรือ สนพ.ประพันสาสน์ หรือ อีบุ๊ก ส่วนตามร้านหนังสือซีเอ็ด บีทูเอส มีเป็นบางแห่งค่ะ  ที่ผ่านมาหนิงเขียนส่ง สนพ. ตลอดค่ะ แต่เล่มต่อไปคิดจะทำเองขายเองแบบปริ้นออนดีมานด์ และทำเป็นหนังสือทำมือด้วยค่ะ  ที่ผ่านมาหนิงไม่เคยวาง แต่ตอนนี้เริ่มอยากวางแพลนสักปีละ 2-3 เล่มค่ะ โปรเจกต์ต่อไปที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับกฎแห่งแรงดึงดูดที่มนุษย์หลายคนไม่เคยรู้ว่าเพราะอะไรชีวิตจึงไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เขียนเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อค่ะ และกำลังเขียนเรื่องเกี่ยวกับชีวิตคู่และเรื่องบนเตียง ไม่ได้เขียนแบบทะลึ่งหยาบโลนนะคะ เป็นการบอกสาเหตุว่าทำไมผู้ชายถึงชอบติดอ่าง? (หมายถึงเที่ยวหญิงขายบริการ) เพราะผู้หญิงจะไม่รู้ตัวว่ามีความบกพร่องอะไร ทำไมสามีหรือแฟนถึงต้องติดอ่าง ยังเขียนไม่เสร็จ ถ้าเขียนเสร็จจะตีพิมพ์ค่ะ   หนิงอยากให้หนังสือของหนิงเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ท้อแท้สิ้นหวัง มีแรงผลักดันให้สู้ต่อเพราะหนิงดีใจที่วันนั้นรอดมาได้ ทำให้วันนี้หนิงได้เห็นสิ่งที่สวยงามและมีคุณค่ามาก และที่สำคัญได้ช่วยเหลือคนมากมาย โดยเฉพาะคนในห้องขังค่ะ(ยิ้มกว้าง)”

 

 

 

เฉลยคำถามนิยายของ“Clair de Lune” 5 เล่ม / เรื่อง“สุดเส้นแสงเงา Color Me In”  

 

คำถามหนังสือล่าสุดของธนัดดา สว่างเดือน” ออกมากี่เล่ม? / เรื่องใดบ้าง?

ทราบคำตอบเขียนชื่อ – ที่อยู่และคำตอบให้ชัดเจน ลงไปรษณียบัตร ส่งมาที่

เปิดปก…อกนักเขียน

เลขที่ 32/15 ซ.ลาดพร้าว 23 แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

ผู้ตอบถูก 3 ท่านได้รับหนังสือจาก ธนัดดา สว่างเดือน (ขอบคุณที่สนับสนุนของรางวัล) หมดเขตส่งคำตอบ 15 มิถุนายน 2561

 

7ax

 

 

 

 

Related posts