กรมป่าไม้ผนึกกำลัง 5 หน่วยงานจังหวัดแพร่ เซ็น MOU จัดตั้ง “สถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้” มุ่งสร้างต้นแบบพัฒนาเศรษฐกิจจากผืนป่า ภายใต้แนวคิด “Economy Under the Forest”

กรมป่าไม้ ผนึกกำลัง 5 หน่วยงานของจังหวัดแพร่ ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) พัฒนาครั้งสำคัญ จัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า Economy Under the Forest” กรมป่าไม้ชี้ช่วยเสริมแกร่งธุรกิจผลิตภัณฑ์ไม้ให้คนแพร่และจังหวัดใกล้เคียงได้ประโยชน์เต็มที่

วันนี้ (7 มิ.ย. 66 ) เวลา 13.00 น. พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ให้เกียรติเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า Economy Under the Forest” ระหว่าง กรมป่าไม้ โดย นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ จังหวัดแพร่ โดย นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดย รศ.ดร.สุภาวิณี สัตยาภรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ โดย นายเสรี ทรงศักดิ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ วิทยาลัยชุมชนแพร่ โดย นายประทีป บินชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแพร่ และเทศบาลเมืองแพร่ โดย นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ทั้งนี้มี นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ นายธานี สุโชดายน นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา สมาชิกวุฒิสภา ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ หอประชุมตรีเทพ โรงเรียนป่าไม้แพร่ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ พร้อมกันนี้ ภายหลังพิธีลงนาม ประธานในพิธี คณะผู้ลงนาม และประชาชนจากชุมชนเทศบาลเมืองแพร่ ได้ร่วมกันบำรุงรักษาต้นไม้บริเวณโรงเรียนป่าไม้แพร่

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้หน่วยงาน / บุคลากร ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันเพื่อกำหนดแผนงานในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการศึกษา วิจัย สังเคราะห์และยกระดับองค์ความรู้เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า Economy Under the Forest แบบองค์รวม และร่วมจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ โดยนำองค์ความรู้ และทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละองค์กรเข้าร่วมบริการในด้านการดูแล อนุรักษ์ บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์ และการสร้างนวัตกรรมจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดแพร่ ให้มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ เกิดห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในทุกด้านของผลิตภัณฑ์ไม้เศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือนี้ จะดำเนินการภายใต้ระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566 – 2569  โดยระยะแรก กรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จะร่วมจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ จังหวัดแพร่ ในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เป็นสถาบันต้นแบบของการพัฒนาจังหวัด และพื้นที่เชิงนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในทุกด้านของผลิตภัณฑ์ไม้เศรษฐกิจ ทั้งระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ จนบรรลุเป้าหมายแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดแพร่ และจังหวัดใกล้เคียง

 “หน่วยงานทั้ง 6 ฝ่าย จะทำงานในรูปแบบของเครือข่ายความร่วมมือ ที่จะนำองค์ความรู้ และทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละองค์กร ร่วมให้บริการในด้านการดูแล อนุรักษ์ บำรุงรักษา ใช้ประโยชน์ และการสร้างนวัตกรรมจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดแพร่ ให้มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ เกิดห่วงโซ่คุณค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ ตามแนวคิด เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า Economy Under the Forest และที่สำคัญ ยังถือเป็นก้าวเริ่มต้นในการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาจังหวัดแพร่ให้เป็น Forest City สร้างพื้นที่โอโซนในประเทศ” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว

Related posts