ท่องเที่ยวชุมชนวิถีชาติพันธุ์ลุ่มน้ำป่าสัก ตอนที่ 2

            มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี เจ้าของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากกองทุนทางวัฒนธรรมชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลุ่มน้ำป่าสัก ระยะที่ 2 ซึ่งนำโดย ดร.วิลาส เทพทา และ ดร.สยามล  เทพทา พร้อมทีมงานวิจัย จับมือกับ คุณเม่น ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ ประธานภาคีท่องเที่ยวไทย เชิญ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว และ สื่อมวลชน รวม 40 ชีวิพร้อมรถมินิบัสปรับอากาศชั้นหนึ่งเดินทางจากกรุงเทพสู่จังหวัดสระบุรี เพื่อท่องเที่ยววิถีชุมชนชาติพันธุ์ไทญ้อ ไทพวนและลาวเวียง ที่กระจายอยู่ในอำเภอวังม่วง/เฉลิมพระเกียรติ/เสาไห้ ตามรอยวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ ซึ่งผ่านมาหนึ่งวัน กับ อากาศร้อนอบอ้าวมาทั้งวัน

            หลังจากทานอาหารเช้า เก็บข้าวของเช็กเอ้าท์จากโรงแรม ออกเดินทางมายังวัดท่าสบก ตำบลท่าคล้อ อำเภอแก่งคอย เพื่อจะลงแพที่ทาง อบต.ท่าคล้อจัดสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับสมาชิกพวกเรา แม้ยังไม่สมบูรณ์เพราะหลังคาไม่มี ในอนาคตคงมีเพิ่มเติม จุดมุ่งหมายเพื่อให้เราทวนน้ำขึ้นไปชมความงดงามของหน้าผาที่เป็นทางโค้งของแม่น้ำป่าสัก มีเรื่องราวเล่าขานเป็นตำนานของถ้ำผาหมีเหนือ เสือใต้ การสร้างสตอรี่เรื่องนี้ไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้กระหายที่อยากจะลงเรือหางยาวและแพยนต์ไปเร็วๆ ก่อนจะลงไปท่าเรือ มีการซํกซ้อมเกี่ยวกับความปลอดภัยสวมใส่ชูชีพในขณะลงเรือ พวกเราเข้าใจการเดินทางก็เริ่มขึ้น เราลงแพที่รับน้ำหนักได้พอสมควร ลงไปยังแม่น้ำป่าสักไปเรื่อยๆ จะเห็นสองข้างทางที่ยังเป็นป่าอุดมสมบูรณ์มากมาย มองเห็นลิงบนต้นไม้ มีคนบอกว่าที่นี่ยังมีกวาง มีเลียงผาให้ดูด้วย การเดินทางมานานพอสมควรก็ถึงทางโค้งหน้าผา ถ้ำหมีเหนือ เสือใต้ เราจอดที่ริมหาดทรายที่มีเพียงน้อยนิด ก่อนที่จะล่องเรือกลับมายังท่าน้ำที่เดิมที่เราลงมา ยอมรับว่าอากาศมันร้อนมากถ้าไม่มีหลังคากันแดด คงลำบากคนนั่งบนแพต้องมีหมวกใส่หรือมีร่มเท่านั้น สนใจล่องแพดูความงามแม่น้ำป่าสัก ติดต่อได้ที่นายทนงยุทธ์ จันทรกูล โทร 081-852-1673 หรือ นางจันที สุทธิประภา อบต.ท่าคล้อโทร 086-173-8575

            เราออกเดินทางจากอำเภอแก่งคอย เพื่อไปยังอำเภอเสาไห้ เพื่อไปเยี่ยมชมหอชาวนาโคกนาศัย ศูนย์การเรียนรู้วิถีชาวนาน เศรษฐกิจพอเพียงและการปลูกข้าวแบบออแกนิค ซึ่งเคยมาเยี่ยมชมตั้งแต่เริ่มสร้าง มีการพัฒนาต่อยอดขึ้นมากมายเปลี่ยนไปมาก มีร้านกาแฟสดริมท้องนา แม้ว่าอากาศจะร้อน ยังมีต้นไม้รองรับและสายลมพัดผ่าน เรามาทานอาหารกล่องที่นำอาหารพื้นบ้านใส่ในภาชนะจักสานที่สวยงามด้วยความคิด และทานขนมจีนน้ำยา จากเส้นขนมจีนที่ทำมาจากข้าวเสาไห้  กินกันอย่างอร่อยๆ

            นางวนิดา ศรีเม่น กำนันสาวคนเก่งยังคงเป็นผู้นำชุมชนที่แข็งแกร่งขึ้นทุกวัน ทำให้ชาวตำบลม่วงงาม มีวิถีชีวิตที่ยังยืนบนวัฒนธรรมที่จับต้องได้ หลังจากทานอาหารเครื่องดื่มเสร็จ ก็ถึงลานกิจกรรมที่ทุกคนจะมาเรียนรู้การสานตาเหลวด้วยไม้ตอกที่ทำมาจากไม้ไผ่ เป็นความเชื่อที่เป็นสิริมงคล พวกเราทำกิจกรรมกันอย่างสนุกสนานแล้วแต่ว่าใครจะมีฝีมือ สนใจอยากเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนลาวเวียงติดต่อไปที่กำนันไก่ วนิดาโทร 085-549-9197 เราอำลาหอชาวนาโคกนาสัยอีกครั้ง

            อากาศร้อนมากเรากลับเข้ามาที่โรงแรมไออุ่นรีสอร์ท ทางเลี่ยงเมืองสระบุรีเพื่อพักผ่อนอาบน้ำคลายร้อน เย็นนี้เรายังมีโปรแกรมไปเยี่ยมกาดย่ำค่ำ วัดไผ่ล้อมของชุมชนไทพวน ไปชมตลาดวิถีชีวิตชาวล้านนาพลัดถิ่น ไปเยี่ยมชมศาลาการเปรียญโบราณเก่าแก่ ในอดีตเคยเป็นศาลาว่าการของอำเภอเสาไห้ ที่ยังอนุรักษ์เก็บเอาไว้นานร้อยกว่าปี ชุมชนวัดไผ่ล้อม จัดเวทีต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่นมีการแสดงฟ้อนรำและเชื้อเชิญให้พวกเรารำวงกันอย่างสนุกสนาน เวลาใกล้ค่ำแล้วเราจะต้องเดินทางเพื่อไปรับประทานอาหารค่ำที่ร้านต้อมแควป่าสัก ถ้าสนใจอยากเยี่ยมชมตลาดย่ำค่ำวัดไผ่ล้อม ติดต่อที่นางสมปอง ทิพย์คูนอกผู้ใหญ่บ้านสวนดอกไม้ โทร 092-380-5722 ได้ทุกวันตามแต่สะดวก

            เรามาทานอาหารค่ำที่ร้านอาหารต้อมแควป่าสัก คืนนี้จะมีการเสาวนาหัวข้อ ทิศทางการพัฒนาท่องเที่ยวของชุมชนชาติพันธุ์ในลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดสระบุรี โดยมี ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ ประธานภาคีท่องเที่ยวไทย คุณทองอยู่ ศุภวิทยากรณ์จากแอ๊ตต้า นางนิตยา เมธีวุฒิกร รอง ผอ.ททท.สำนักงานพระนครศรีอยุธยา นายกสิเดช จารุเพ็ง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระบุรี นายวัชรพงษ์ สำเหนียกพันธุ์ นายกเทศมนตรีตำบลต้นตาล-พระ ยาทศ โดยมี ดร.วิลาส เทพทา เป็นผู้ดำเนินรายการ พูดถึงแหล่งท่องเที่ยวของชนชาติพันธุ์แห่งลุ่มน้ำป่าสักที่ผ่านมา เกี่ยวกับโครงสร้างที่ดีและมีการต่อยอดขึ้นไปในอนาคต การเสาวนาได้ผ่านไปพร้อมกับการอิ่มอร่อยกับรสชาติอาหาร ก่อนที่จะเดินทางกลับไปพักผ่อนที่ไออุ่นรีสอร์ท พรุ่งนี้เรายังมีงานที่รองรับเก็บรายละเอียดของตลาดต้นตาลก่อนที่จะปิดโปรแกรมของทริปนี้อีกครั้ง.

Related posts