“60 ปี วว.” ภูมิใจ “ICPIM” มุ่งพัฒนาบริการด้านวิจัยจุลินทรีย์ เสริมศักยภาพทุกภาคส่วน หนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน

          ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนึ่งในความภาคภูมิใจ 60 ปี วว. มุ่งมั่นพัฒนาสานสร้างเทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้บริการด้านวิจัยเสริมศักยภาพทุกภาคส่วน พร้อมหนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยั่งยืน

        ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) มีจุดเริ่มต้นและ ต่อยอดขยายมาจากศูนย์จุลินทรีย์ วว. ซึ่งมีการจัดตั้งมาตั้งแต่ปี 2519 ถึงปัจจุบันคือ 46 ปีแล้ว โดยมีหน้าที่หลัก ในการเก็บรักษาจุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ รา และแอคติโนมัยซิต โดยจุลินทรีย์ที่เก็บจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรม โดยศูนย์ มี 3 ภารกิจหลัก คือ งานบริการสายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบัน มีอยู่ 11,000 สายพันธุ์ โดยให้บริการ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่มหาวิทยาลัย โรงเรียน บริษัทเอกชน รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรม ภารกิจต่อมา คือ งานบริการวิเคราะห์ทดสอบทางด้านชีวเคมีและการวิเคราะห์ตรวจสอบทางด้านพันธุกรรมของจุลินทรีย์ โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการมาใช้บริการ จะใช้เพื่อขอขึ้นทะเบียนกับกรมประมง และหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้อง และภารกิจที่สาม คือ งานด้านวิจัยและพัฒนา โดยส่วนใหญ่งจะเน้นในการพัฒนาสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ที่ศูนย์ฯ เป็นผู้เก็บรักษา เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะมีการวิจัยว่า มีคุณสมบัติอะไร และมีคุณลักษณะที่ดีอย่างไร เพื่อนำมาต่อยอด

          “นอกจากภารกิจที่กล่าวมาแล้ว ศูนย์ฯ ยังมีหน้าที่ถ่ายทอดเชิงพาณิชย์ให้กับบริษัทเอกชน ในเรื่องงานบริการวิจัย ซึ่งมีหลายองค์กรทำผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากจุลินทรีย์ รวมไปถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโดยเราจะทำในส่วนของวัตถุดิบที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ OTOP ไม่ว่าจะเป็นปลาร้า  ปลาจ่อม หรืออะไรที่ใช้เกี่ยวกับการหมัก ดอง ที่ต้องใช้จุลินทรีย์ เราได้ให้บริการหัวเชื้อ เพื่อให้ชุมชนสามารถนำจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพ และมีประโยชน์ นำไปต่อยอดธุรกิจได้”

          ปัจจุบัน การทำงานวิจัยด้านจุลินทรีย์ ได้มีการขับเคลื่อนเชิงรุกจนเป็นที่รู้จักในนาม ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ และพรีไบโอติกส์ หรือ (ICPIM) เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเทคโนโลยีโพรไบโอติกส์แบบครบวงจร ให้บริการสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ บริการวิเคราะห์ทดสอบ บริการทดสอบคุณสมบัติเชิงหน้าที่ของจุลินทรีย์ หรือสารชีวภาพ เช่น การต้านอนุมูลอิสระ การยับยั้งเซลล์มะเร็ง การสร้างสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน และการยับยั้งการเจริญของเชื้อ  ก่อโรค รวมไปถึงให้บริการวิจัยพัฒนาจุลินทรีย์ โพรไบโอติกส์ ในอุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งงานบริการทดสอบพิษวิทยา ต่อหน่วยพันธุกรรม ที่ทุกคนมั่นใจได้ในมาตรฐานการให้บริการ

          ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญในการนำ พรีไบโอติกส์ และโพรไบโอติกส์ มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับสุขภาพของมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะงานวิจัยในเชิงคลินิก ที่มีการทดสอบประสิทธิภาพ  ของพรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์ ผลการวิจัยเชิงคลินิก ค้นพบว่า ทั้งพรีไบโอติกส์ และโพรไบโอติกส์นี้มีประโยชน์สูง เป็นต้นว่า ช่วยรักษาการติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือ ฆ่าเชื้อกรณีเกิด  การท้องร่วง ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งลำไส้ ช่วยส่งเสริมการย่อยแล็กโทส และช่วยในการทำงานของไมโครไบโอตา (microbiota) หรือแบคทีเรียทั้งหมดที่อยู่ในร่างกายเรา ดังนั้น ในปัจจุบัน เราจึงพบว่า ได้มีการนำโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์มาเป็นส่วนผสมในอาหารหลายๆ ประเภท

ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบัน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ยังได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม แห่งที่ 2 (ICPIM2) ขึ้น เพื่อเป็นโรงงาน กึ่งอุตสาหกรรมครบวงจร ในการผลิตชีวภัณฑ์สำหรับใช้ทางการเกษตร รองรับการดำเนินงาน 3 รูปแบบ คือ งานวิจัยพัฒนากระบวนการขยายจุลินทรีย์ และพัฒนารูปแบบของชีวพันธุ์ ร่วมกับหน่วยงานราชการสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน บริการที่ปรึกษาในการผลิตชีวภัณฑ์ และพัฒนาบุคคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวทางอุตสาหกรรมการเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ

          ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม 2 มี 2 สายการผลิต ได้แก่ สายการผลิตแบคทีเรียและสายการผลิตเชื้อรา รองรับการผลิตจุลินทรีย์ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตพืช ชีวภัณฑ์ป้องกันโรค และแมลงศัตรูพืช เชื้อพันธุ์ที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ จุลินทรีย์ที่ใช้ในด้านการประมง และปศุสัตว์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงงานมี 3 รูปแบบ คือ หัวเชื้อผง หัวเชื้อเหลว และหัวเชื้อสด สำหรับกำลังการผลิตของโรงงานอยู่ที่ 110,000 ลิตรต่อปี

          สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรับบริการจาก ICPIM สามารถติดต่อได้ที่ กองบริการธุรกิจนวัตกรรม Call Center 02-577-9300, 061-414-3934 ID LINE official : @brc_tistr และศูนย์นวัตกรรมผลิต หัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม 2 ติดต่อได้ที่ โทร.02-577-9021 02-577-9016

Related posts