สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 และ การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4
และ การประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ย้ำ “ครูคือผู้มีบทบาทสำคัญต่อการแก้ปัญหาการฟื้นฟูการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นโอกาสนำนวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้เข้ามาทดแทนการสอนแบบเดิม”

  • รมว.ศธ.ชี้ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม และวิธีการเรียนรู้แบบระบบเดียวไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ในยุคหลังโควิด ย้ำจำเป็นต้องใช้การเรียนรู้แบบผสมผสานยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤต

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หัวข้อ “มุ่งสู่ความเสมอภาคร่วมกัน” โดยความร่วมมือของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กระทรวงศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และองค์การระหว่างประเทศ อาทิ UNICEF  UNESCO และ Save the Children โดยมีการถ่ายทอดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน และติมอร์-เลสเต และมีเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี โดยเฉพาะครูไทยที่ได้รับรางวัลคุณากร ครูยิ่งคุณ และครูขวัญศิษย์ จาก 4 รุ่นที่ผ่านมาเข้าร่วม กว่า 250 คน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์สอนเพื่อส่งผลการเปลี่ยนแปลงที่ลูกศิษย์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเนื่องในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ปี และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่า การประชุมที่เกิดขึ้นเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันที่เข้มแข็งระหว่างผู้กำหนดนโยบาย นักการศึกษา และทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อให้ความรู้แก่เด็กทุกคน รวมทั้งกลุ่มที่ด้อยโอกาสและกลุ่มชายขอบ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 4 ของสหประชาชาติ ทุกคนล้วนตระหนักดีถึงความท้าทายอันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการเรียนรู้ สุขภาพ และสวดสดิภาพของนักเรียนทั่วโลก การสูญเสียการเรียนรู้อันเนื่องมาจากการปิดโรงเรียน ก็เป็นโอกาสนำนวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้เข้ามาทดแทนการสอนแบบเดิมๆ ในห้องเรียน  ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา นโยบาย และแนวปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่าคนทุกคนจะเข้าถึงและได้รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

การแบ่งปันและเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของสมาชิกในภูมิภาคจากการประชุมครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการศึกษา เพราะครูคือผู้มีบทบาทสำคัญต่อการแก้ปัญหาการฟื้นฟูการเรียนรู้ของผู้เรียน ครูทั้งหลายถูกคาดหวังให้ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนด้านอารมณ์และสังคมแก่นักเรียน รวมถึงการเข้าถึงผู้ที่มีความเสี่ยงถูกทอดทิ้ง

ครูคือหัวใจของการตอบสนองต่อการศึกษาในยุควิกฤตโควิด-19 บทบาทของครูในด้านการศึกษาเป็นมากกว่าการสอนในโรงเรียน เพราะยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง ผู้ฝึกสอน ให้คำปรึกษา เป็นพี่เลี้ยง และแบบอย่างที่ดี พัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนอย่างปลอดภัย ครูยังต้องปรับปรุงสื่อการเรียนรู้แบบตัวต่อตัวเพื่อใช้ในการสอนออนไลน์หรือในรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน ซึ่งการทำเช่นนั้นได้ บรรดาหลักสูตร วิธีการสอน
สื่อการเรียนรู้ และแบบประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนจะต้องเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่ ครูยังต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้นักเรียนมีความสามารถมากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และมีสุขภาพดี เพื่อให้ครูรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น หลายฝ่ายต้องช่วยกันให้การสนับสนุนครูทั้งการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น การฝึกอบรม และนโยบายที่เหมาะสม 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า จากผลกระทบของการโควิด-19 ทำให้ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมสำหรับทุกคน การออกแบบระบบการศึกษาขึ้นใหม่ยังเป็นประเด็นปัญหาที่เร่งด่วน เนื่องจากเราต่างต้องการแนวทางการเรียนรู้ที่กระตือรือร้นมากขึ้นเพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกในยุคหลังโควิด ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมและวิธีการเรียนรู้แบบระบบเดียวเพื่อครอบคลุมทั้งหมดไม่อาจสอดคล้องกับสภาพสังคมในยุค New Normal และยุคศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป ดังนั้นจึงต้องใช้แบบจำลองการเรียนรู้แบบผสมผสานที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้เมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤต ขณะที่นักเรียนเองก็ต้องเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงเพื่อเพิ่มความสามารถในการจ้างงานท่ามกลางยุคเทคโนโลยี

นางสาวตรีนุช กล่าวเสริมว่า ครูเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูระบบการศึกษา โดยสนับสนุนให้ครูได้เติมทักษะใหม่ให้ครอบคลุมรอบด้าน เพื่อสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ในห้องเรียนและยกระดับการสอนให้ถึงความเป็นเลิศได้ และขอมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามพระราชดำริของพระองค์ฯ ส่งมอบแนวทางการศึกษาที่ครอบคลุมรอบด้าน ดูแลให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนมีสุขภาพที่ดี ปลอดภัย และมีสวัสดิภาพที่ดี รวมถึงกลุ่มผู้พิการทางร่างกายและผู้มีความบกพร่อง
การเรียนรู้ ชนกลุ่มน้อย และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ขอบคุณมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีที่จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อยกย่องครูผู้อุทิศตนในการพัฒนาลูกศิษย์และการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต

นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 เป็นเวทีที่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีทุกรุ่นได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกัน รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับครูไทย ตลอดจนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพครูและผู้ที่กำลังก้าวเข้าสู่วิชาชีพครูต่อไป  

Related posts