กินเที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์ : พาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตลาดน้อยวิถีชีวิตชุมชนชาวโปรตุเกสสมัยกรุงธนบุรีและวิถีชาวจีนเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์

               กินเที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน วันนี้ผมจะพาท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกันที่ตลาดน้อย ที่ปรากฎร่องรอยอดีตวิถีชีวิต ชาวโปรตุเกส / ชาวญวนเวียดนาม/ ชาวจีน

               ที่นี่ “วิถีชีวิตชาวตลาดน้อย” ริมน้ำเจ้าพระยาเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เรียกว่า ท่องเที่ยว 3 วัฒนธรรมดังกล่าว คือ วัฒนธรรมชาวคริสต์ วัฒนธรรมชาวญวนเวียดนามและวัฒนธรรมชาวจีน ที่ยังคงปรากฏหลักฐานของแต่ละวัฒนธรรมมาถึงทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ของคริสต์ศาสนา โบสถ์กาลหว่าร์ที่เป็นจุดเช็คอินสำคัญ ของนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวตลาดน้อยหรือแม้กระทั่งศาลเจ้าของชาวจีนที่มีอยู่มากมายหลายศาลซึ่งช่วงที่ผมออกย่ำเท้าไปเที่ยวที่ตลาดน้อยนั้นก็เป็นช่วงเทศกาลกินเจพอดีโชคดีมากครับได้เห็นผู้คนชาวจีนมากมายแต่งกายชุดขาวถือศีลกินเจกันที่วัดหรือศาลเจ้าของชาวจีนกันอย่างหนาแน่น และที่สำคัญขาดไม่ได้เลยของคนที่มาเที่ยวตลาดน้อยคือการลัดเลาะตรอกซอกซอยต่างๆ เพื่อหาของกินอร่อยอร่อยมากมายหลายร้านยังไม่นับกับร้านกาแฟสมัยใหม่ที่ผุดขึ้นอย่างมากมายจากการรีโนเวทตึกรามบ้านช่องที่เคยเป็นย่านขายของเชียงกงหรือพวกอะไหล่รถยนต์มากมายให้กลายเป็นร้านกาแฟกิ๊บเก๋ชนิดที่ขึ้นไปแล้วก็ต้องร้องว้าวว้าวว้าวกันเลยทีเดียวครับ

               มาถึงตลาดน้อยทั้งทีด้วยวิธีที่ง่ายดายที่สุดคือการนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาแล้วมาลงทีถ้ากรมเจ้าท่าเดินต่ออีก 100 เมตรก็ถึงตลาดน้อยพอดีสนนราคาค่าเรือด่วนเจ้าพระยา ถ้าขึ้นจากท่าหอนาฬิกานนทบุรีมาขึ้นที่ท่ากรมเจ้าท่า คนละ 16 บาทเองครับชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยากันเต็มตาเลยด้วย วันนี้ขอเล่าถึงเรื่องของความเป็นมาตลาดน้อยแห่งนี้ดังนี้นะครับ

               เรื่องที่ 1 ตามประวัติศาสตร์เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2309-2310 ในเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าเผาบ้านเผาเมืองเสียหายหมด ยุคสมัยนั้นพระเจ้าตากสินหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนได้จึงทรงโปรดฯ ตั้งราชธานีขึ้นมาใหม่คือ “กรุงธนบุรี” บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่และครั้งกระนั้นชาวโปรตุเกสก็อพยพตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาตั้งบ้านเรือนในย่านกุฏีจีนซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าแม่กวนอิมอยู่ก่อนแล้วจึงเรียกกันว่าย่านกุฏีจีน ครั้งนี้ ผม หนุ่ม’สุทนได้พูดคุยกันกับประธานชุมชนชาวคริสต์ย่านกุฏีจีนเล่าให้ฟังว่า ชาวโปรตุเกสได้จัดสร้างวัดของศาสนาคริสต์คือ “ซางตาครู้สต์”ที่ฝั่งริมน้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่เขตกรุงธนบุรีทุกวันนี้คือแขวงวัดกัลยาณมิตร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานครและชาวโปรตุเกสบางส่วนก็ย้ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งเป็นอู่ซ่อมเรือสำเภาเมื่อครั้งกระนั้นต่อมาได้สร้างโบสถ์กาลหว่าร์เป็นของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ส่วนรูปแบบของโบสถ์กาลหว่าร์ หรือวัดแม่พระลูกประคำ เป็นสถาปัตยกรรมแบบ กอทิก ของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก รูปทรงสูงและมียอดแหลมส่วนบนดูสวยงามมาก หน้าวัดหันออกแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับประตูมีทางเข้าออก 3 ทาง ด้านในโบสถ์ประดิษฐานไม้กางเกนของพระเยซู โบสถ์นี้ถือว่าเป็นโบสถ์เก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปเมื่อมาถึงตลาดน้อย

               เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องราวของ “ชาวญวนอพยพมาจากเวียดนาม” สันนิษฐานกันเองว่าน่าจะต้นกรุงรัตนโกสินทร์เข้ามาตั้งบ้านเรือนสมัยนั้นเรียกว่าชานพระนครตอนใต้ ชาวญวนก็ได้สร้างวัดขึ้นมาเรียกว่า “วัดญวนหรือวัดญวนตลาดน้อย” กาลเวลาต่อมาทุกวันนี้คือ “วัดอุทัยราชบำรุง” เป็นศิลปะคล้ายๆ วัดจีนเพราะมากด้วยพญามังกรเข้าชมได้ศิลปะพญามังกรงดงามมากครับ

               ส่วนเรื่องที่ 3 เป็นเรื่องราวของ “ชาวจีน” น่าจะอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เข้ามาตั้งบ้านเรือนเป็นตลาดย่านสำเพ็งชาวจีนเรียกตลาดใหญ่ต่อมาชาวจีนบางส่วนก็ย้ายเข้ามาตั้งเป็นตลาดย่านชานพระนครแล้วเรียกว่า “ตลาดน้อย” เพราะตลาดใหญ่อยู่สำเพ็งนี่แหละที่มาของชื่อ “ตลาดน้อย” ครับ โดยมีศาลเจ้าโรงเกือกหรือศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุงถือเป็นศาลเจ้าแห่งแรกย่านตลาดน้อยและเป็นศาลเจ้าแห่งแรกที่ชาวจีนแคะจัดสร้างขึ้นมาริมสายน้ำเจ้าพระยาตัวศาลเจ้าเป็นศิลปะแบบจีนหรือประตูหน้าต่างชาวจีนเรียกฉี่หู่ชวงหมายถึงหน้าต่างเสือมังกร ส่วนภายในประดิษฐาน “องค์เทพเจ้าฮ้อนหว่องกุงและองค์เทพเจ้าฉ่อยสึนหย่า” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในย่านตลาดน้อยเขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร

               หากท่านมีโอกาสก็ลองไปเดินเที่ยวชิลล์ๆ กันที่“ตลาดน้อย” ดูนะครับ ชมวิถีชีวิต 3 วัฒนธรรมอย่างที่ผมไปมาแล้วแต่ขอกระซิบว่า ต้องออกย่ำเท้านะครับคือเดินเท่านั้นนะ เดินเข้าตรอกซอกซอเล็กๆ ไปได้เรื่อยๆ แล้วสังเกตพื้นทางเดินดูนะครับว่า ดั้งเดิมเคยปูด้วย “หินอับเฉา” ซึ่งเป็นก้อนหินที่อยู่ใต้ท้องเรือสำเภาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ถูกเก็บบรรทุกอยู่ใต้ท้องเริอสำเภาหลายเดือนไม่เคยเห็นเดือนเห็นตะวัน ดังนั้นจึงเรียกว่า “หินอับเฉา” ยิ่งทำให้การย่ำเท้าเดินเที่ยวในตลาดน้อยมีคุณค่าและความหมายมากขึ้นอีกโขเลยครับ

               โดยส่วนตัวผมแล้วผมชอบท่องเที่ยวดูวิถีชีวิตของผู้คนในที่ต่างๆ แบบนี้มากครับ ยิ่งย่านตลาดน้อยด้วยแล้วที่นี่คือชุมชนชาวจีนที่ยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตชีวาแบบดั้งเดิมเอาไว้แทบจะครบสมบูรณ์เลยทีเดียวทั้งเรื่องประเพณีศาสนาอาหารการกินที่มีร้านอร่อยๆให้เลือกมากมาย เป็นที่ถูกอกถูกใจของนักท่องเที่ยวทั้งรุ่นพ่อแม่รุ่นลูกหลานคนรุ่นใหม่ต่างก็อยากจะไปลองลิ้มชิมอาหารอร่อยอร่อยในย่านตลาดน้อยและเที่ยวดูวิถีชีวิตแบบเก่าเก่าแต่ผสมผสานด้วยวัฒนธรรมสามเชื้อชาติกันเลยทีเดียว “กินเที่ยวทั่วไทย เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้ ถ้าอยากรู้ต้องออกเดินทางไป…กับ…ผมหนุ่ม’สุทน” แล้วฝากติดตามฟังรายการ “กินเที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์” ทางคลื่นข่าว fm 100.5 mhz ฟังเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน วัฒนธรรมและอาหารถิ่นของชุมชนได้ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.10-11.00 น.  ขอบคุณและสวัสดีครับ

เรื่องและภาพโดย : หนุ่ม-สุทน รุ่งธัญรัตน์

แฟนเพจเฟซบุ๊ค : https://www.facebook.com/sutonfm100.5/

#ติดตามฟังเรื่องราวการเดินทางเที่ยวทั่วไทยทางคลื่นข่าว100.5fm ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.10-11.00 น.

 #ติดต่อวิทยากรด้านการท่องเที่ยวได้ที่ได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ค

#เที่ยวเพลิน #เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน #bigmaptravel #เที่ยวใกล้เที่ยวง่ายสไตล์ภาคกลาง

Related posts