รายการกินเที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์ : พาไปรู้จักสามที่ท่องเที่ยวในกิจกรรมเที่ยววัดห้ามพลาดเมืองโคราชสายบุญคือศาลหลักเมือง วิหารหลวงวัดพระนารายณ์มหาราชและเทวสถานพระนารายณ์

               รายการกินเที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์ พาท่องเที่ยวในกิจกรรมเที่ยววัดห้ามพลาดเมืองโคราชสายบุญ กับ 3 สถานที่ห้ามพลาด

เราเริ่มต้นกันที่

               “ศาลหลักเมืองโคราช” ตามประวัติที่ผมได้ศึกษามาเชื่อได้ว่ามีมาตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองโคราชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ศาลหลักเมืองแห่งนี้เมื่อครั้งอดีตกาลเล่าขานกันเองว่าถ้าชาวบ้านบรรทุกสินค้ามากับเกวียนผ่านศาลหลักเมือง ถ้าหากไม่ยกมือไหว้ขอผ่านทางเกวียนจะติดหล่มดินโคลนทันที เมื่อเข้ามาสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์กล่าวว่ากองทัพเจ้าอนุวงศ์แห่งกรุงเวียงจันทน์ยกทัพมาแล้วเผาเมืองโคราชด้วยการรื้อถอนกำแพง 3 ด้าน แล้วเผาศาลหลักเมืองโคราชด้วยครั้งกระนั้นมีเสาหลักเมืองประดิษฐานอยู่ 6 เสา ต่อมาก็มีการจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นมาใหม่เป็นเสาสูงส่วนเสาที่สองประดิษฐานไว้เพื่อให้ชาวบ้านชาวเมืองที่มากราบขอพรได้ปิดทองและขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเสาหลักเมืองครับ

ศาลหลักเมืองโคราช

               สำหรับอาคารศาลหลักเมือง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2504 ชาวจีนที่ประกอบกิจการธุรกิจในตัวเมืองนครราชสีมาได้ร่วมกันจัดสร้างตัวศาลหลักเมืองขึ้นมาใหม่เป็นแบบเก๋งจีนแล้วอัญเชิญองค์เทพเจ้าอากงประดิษฐานเพื่อปกป้องดูแลเสาหลักเมืองตามความเชื่อของชาวจีนหรือจะทำให้กิจการเจริญรุ่งเรือง ทุกวันนี้เรียก “ศาลเจ้าหลักเมือง” ขอพรได้ทุกเรื่อง เช่น การประกอบอาชีพการค้า การลงทุน ให้กิจการเจริญรุ่งเรือง เสริมดวงชะตาให้พบเจอเรื่องดี ๆ เป็นมงคลชีวิตและมีจิตใจเข้มแข็งมั่นคงในความดี ซึ่งผมเองก็มีโอกาสปิดทองและกราบขอพรด้วยเช่นกัน รู้สึกได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์และน่าเลื่อมใสศรัทธา เสาหลักเมืองดูเก่าแก่มากครับไปกราบขอพรกันได้

               เสร็จแล้วเดินมาเข้าวิหารหลวง “วัดพระนารายณ์มหาราช” เป็นจุดที่ 2 กราบบูชาองค์พระพุทธรูปคือ “พระพุทธทศพลญาณประทานบารมี” หรือชาวบ้านเรียก “องค์หลวงพ่อใหญ่” กราบขอพรเรื่องหน้าที่การงาน สอบเข้ารับราชการหรือเป็นสิริมงคลให้ตัวเองและครอบครัว พลาดโอกาสไม่ได้ลงมาหน้าวิหารหลวงบูชา “องค์ท้าวเวสสุวรรณ” ขอพรเรื่องโชคลาภร่ำรวยเงินทอง การค้าการลงทุนให้ประสบผลสำเร็จตามความปรารถนาในขณะอธิษฐานให้ตั้งจิตใจแน่วแน่เป็นสมาธิและขอพรองค์ท่านได้ครับ ผมมองดูองค์ท้าวเวสสุวรรณ องค์ไม่ใหญ่มากนักแต่ดูน่าเกรงขาม ดูมีพลังให้ได้กราบขอพรและเชื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์ขององค์ท่านครับ

วัดพระนารายณ์มหาราช

               จุดที่ 3 เมื่อมาถึงวัดพระนารายณ์ ต้องไม่พลาดเดินไปกราบขอพร ณ ศาลพระนารายณ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเมืองโคราชสันนิษฐานกันเองว่าน่าจะมีมาตั้งแต่ครั้งเมืองโคราชภายในประดิษฐาน องค์พระนารายณ์สี่กร องค์พระพิฆเนศ องค์ท้าวมหาพรหมหรือพระพรหมสี่หน้า เทพเจ้าในศาสนาพรามณ์-ฮินดู ซึ่งชาวพุทธก็เชื่อถึงความศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่อาณาจักรทวารวดีหรือขอมเรืองอำนาจจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ โดยส่วนตัวผมเองก็ให้ความเคารพนับถือด้วยเช่นกันก็ไม่พลาดในการกราบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่ในบริเวณศาลพระนารายณ์แห่งนี้ครับ

เทวสถานพระนารายณ์

               ครบถ้วนสมบูรณ์ 3 สถานที่ตามความเชื่อของแต่ละคน หนุ่ม-สุทนไปมาแล้วหลายครั้ง จึงนำมาเล่าสู่กันฟังให้ท่านที่มีโอกาสไป ได้ไปกราบขอพรสิ่งศักดิ์ของเมืองโคราชนี้กันครับ สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา โทรศัพท์ 044-213666 ได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.

               ขอขอบคุณ ผอ.ภาวนา ประจิตต์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา ที่ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนชมรมนักข่าวท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เดินทางไปทำข่าวท่องเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมาครั้งนี้ “กินเที่ยวทั่วไทย เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้ ถ้าอยากรู้ต้องออกเดินทางไป…กับ…ผมหนุ่ม-สุทน” แล้วฝากติดตามฟังรายการ “กินเที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม-สุทน รุ่งธัญรัตน์” ทางคลื่นข่าว fm 100.5 mhz ฟังเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ วิถีชุมชน วัฒนธรรมและอาหารถิ่นของชุมชนได้ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.10-11.00 น.  ขอบคุณและสวัสดีครับ

เรื่องและภาพโดย : หนุ่ม-สุทน รุ่งธัญรัตน์

แฟนเพจเฟซบุ๊ค : https://www.facebook.com/sutonfm100.5/

#ติดตามฟังเรื่องราวการเดินทางเที่ยวทั่วไทยทางคลื่นข่าว100.5fm ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.10-11.00 น.

#ติดต่อวิทยากรด้านการท่องเที่ยวได้ที่ได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ค

#เที่ยวเพลิน #เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน #bigmaptravel #Tourism local life ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน

Related posts