กระทรวงสาธารณสุข จับมือภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมส่งเสริมการเล่นอิสระและการเล่นที่ครอบครัวมีส่วนร่วมตามช่วงวัย (Play Day) ในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำบลละ 1 แห่ง

กระทรวงสาธารณสุข จับมือภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมส่งเสริมการเล่นอิสระและการเล่นที่ครอบครัวมีส่วนร่วมตามช่วงวัย (Play Day)  ขับเคลื่อน Model 3F : Family – Free – Fun สร้างกระแสการเล่นอิสระ และสร้างความร่วมมือ ในการพัฒนาผู้อำนวยการเล่น (Play worker) ในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก ตำบลละ 1 แห่ง

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่สวนศรีเมือง อ.เมือง จ.ระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานมหกรรมส่งเสริมการเล่นอิสระและการเล่นที่ครอบครัวมีส่วนร่วมตามช่วงวัย (Play Day) มีนายยุทธพล องอาจอิทธิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัยละนายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมเป็นเกียรติฯ ภายในมีการลงนาม MOU พัฒนาผู้อำนวยการเล่น(Play worker) ในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ระหว่างกรมอนามัย และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นมอบโล่พื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกให้แก่ 14 หน่วยงาน และมีบูธกิจกรรมพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกของหน่วยงาน และโรงเรียนต่างๆ จำนวน 14 แห่ง

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กผ่านการเล่น ภายใต้โครงการขับเคลื่อนนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีทักษะ รู้เท่าทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มี IQ ที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมควบคู่กับ EQ และ EF ผ่านการเล่น โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ มีผู้อำนวยการเล่น (Play worker) อย่างน้อยตำบลละ 1 คน และมีพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก ตำบลละ 1 แห่ง ด้วยแนวคิด 3F ได้แก่

 F : Family คือการเล่นกับครอบครัว เพื่อน พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ที่มีทักษะและสร้างแรงจูงใจในการเล่น

F : Free คือ การเปิดโอกาสให้เด็กเล่นอิสระตามความต้องการ อยากจะเล่น โดยมีมุมเล่น ลานเล่น สนามเด็กเล่น ที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน ให้เด็กเล่นที่ไหนก็ได้ขอให้ปลอดภัย และ

 F : Fun คือ การเล่นให้สุข สนุก โดยมีกิจกรรม สื่อของเล่นหลากหลาย หาง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นไปตามวัย เน้นธรรมชาติ

ซึ่งขณะนี้มีผู้อำนวยการเล่น (Play worker) จำนวน 2,322 คน และพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก จำนวน 787 แห่ง“สำหรับการจัดงานมหกรรมส่งเสริมการเล่นอิสระและการเล่นที่ครอบครัวมีส่วนร่วมตามช่วงวัย (Play Day) ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสาร สร้างกระแส และสร้างความร่วมมือในการพัฒนาผู้อำนวยการเล่น (Play worker) ในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผู้อำนวยการเล่น (Play worker) เป็นผู้ที่มีบทบาทช่วยให้การเล่นของเด็กประสบความสำเร็จ ซึ่งพ่อแม่ ผู้สูงอายุ ครูพี่เลี้ยงเด็ก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทุกคนที่อยู่รอบตัวเด็กสามารถเป็นผู้อำนวยการเล่น และสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก”

ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก โดยได้มีการจัดอบรมพัฒนาทักษะผู้อำนวยการเล่น (Play worker) ให้ครอบคลุมทุกตำบล มีองค์ประกอบสำคัญ 4 องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก ได้แก่ 1.พื้นที่เล่น (Space) ต้องสอดรับกับบริบทแต่ละพื้นที่ เป็นสถานที่ปลอดภัย และสามารถเล่นได้ทุกที่ ทุกช่วงเวลา 2.กระบวนการเล่น(Play process) เน้นการเล่นอิสระ ครอบครัวมีส่วนร่วม และเป็นการเล่นที่ส่งเสริมสุขภาพทางกาย การเจริญเติบโต เช่น วิ่ง กระโดด ขว้าง ปีนป่าย วิ่งเปี้ยว วิ่งเก็บของ เป็นต้น 3. หน่วยบริหารจัดการการเล่น (Play Management Unit)ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัว สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย หน่วยบริการสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน 4.ผู้อำนวยการเล่น (Play worker) ผู้ที่สนับสนุนการเล่นของเด็ก โดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางดำเนินการผ่านพ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน

  ทางด้าน นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ภารกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพสูงสุด เพื่อให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยรอบด้านจึงได้มีนโยบายขับเคลื่อนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ดำเนินการพัฒนาเด็กปฐมวัยภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น (สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา) โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ผนึกกำลังร่วมกันของ 3 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โดยอาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิ สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เป็นผู้ออกแบบสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการใน 15 ประเด็นเร่งด่วนด้านคนและการศึกษา ที่จะต้องดำเนินการใน 5 ปีแรก ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา รวมทั้งสิ้น 4,601 แห่ง.

Related posts