สทท. เร่งสร้าง Tourism Labor Bank รักษาการจ้างงานและพัฒนาคนท่องเที่ยวรับโอกาสหลังวิกฤต

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.) แถลงผลการศึกษาดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ไตรมาส 4/2563  ซึ่งผลการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้คะแนนใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว โดยมีดัชนีเท่ากับ 62 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่แล้วที่ 60  เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับอานิสงค์จากโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น โครงการกำลังใจ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว การซื้อสินค้าของฝากและร้านอาหารได้พอสมควร  อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาสที่ 1/2564 เท่ากับ 53 ซึ่งถือว่าต่ำมาก  โดยเกิดจากความกังวลของผู้ประกอบการจากการระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า Covid-19 ทำให้แรงงานภาคการท่องเที่ยวจำนวนกว่า 4 ล้านคน ได้รับผลกระทบทั้งจากการถูกพักงานชั่วคราวและถูกลดเงินเดือน ซึ่งการแพร่ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่นั้นอาจจะทำให้แรงงานในสายท่องเที่ยวตกงานมากกว่า 2 ล้านคน เนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่มีทุนพอที่จะรักษาการจ้างงานได้อีกต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก สทท. คาดการณ์ว่า เมื่อมีการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 อย่างแพร่หลายแล้ว การท่องเที่ยวจะสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอาจจะปิดกิจการไปแล้วเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียโอกาสในการที่จะให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นกลไกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

สทท. จึงเล็งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้าง Tourism Labor Bank หรือ ธนาคารแรงงานภาคท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือผู้ถูกพักงานสามารถสมัครเข้ามาเพื่อหาโอกาสในการทำงาน และผู้ประกอบการสามารถเข้ามาเลือกจ้างผู้ที่มีทักษะตรงกับความต้องการ โดยแรงงานที่ยังเหลืออยู่จะได้รับการแนะนำเพื่อนำไปพัฒนาทักษะ Up-skill / Reskill และเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่างๆ ซึ่ง สทท. ได้เริ่มมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆของรัฐ ให้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณสำหรับ Tourism Labor Bank เช่น การ Co-Pay สำหรับการจ้างงานของภาคเอกชน การให้ภาครัฐจ้างแรงงานที่มีประสบการณ์และทักษะไปช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวในท้องถิ่น เช่น การนำเชฟจากโรงแรม 5 ดาว ไปช่วยสร้างเมนูอาหารให้กับชุมชน  การพัฒนาไกด์ให้เป็น Influencer ไปเล่าเรื่องแหล่งท่องเที่ยว การนำคนจากบริษัทนำเที่ยวไปสร้างเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ รวมถึงการ Workshop คน 3 วัย ให้สามารถสร้างสินค้าและเนื้อหา ที่น่าสนใจและไปเผยแพร่ใน Social Media และ Platform ในภาษาต่างๆ  เพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่แรกที่คนจากทั่วโลกจะนึกถึงและต้องการกลับมาเยือนเมื่อวิกฤต Covid-19 ผ่านพ้นไป

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธาน สทท. เน้นว่าเราจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินกิจการไว้ เพราะยังมีบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่มากกว่า 3 ล้านคน และเมื่อผ่านพ้นวิกฤตไปแล้ว การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่จะเข้ามา ซึ่งทั้งผู้ประกอบการและพนักงานจะต้องปรับตัวและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเองให้ได้เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างและกระจายรายได้ให้กับประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงสภาวะปกติในอีกสองปีข้างหน้า ดังนั้น สทท. จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยประคองผู้ประกอบการให้ผ่านวิกฤตไปให้ได้ด้วยมาตรการเยียวยาต่างๆ ทั้งการช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่อง และเสริมรายได้ เช่น มาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี มาตรฐานเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ที่ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ และ มาตรการ Co-pay หรือการที่ภาครัฐช่วยจ่ายค่าจ้างสำหรับผู้ประกอบการในระบบประกันสังคมที่ยังคงจ้างงานอยู่เป็นเวลา 1 ปี เป็นต้น

นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธาน สทท. กล่าวเสริมว่าหลังจากที่ประเทศไทยเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้แล้ว มาตรการแรกที่ต้องทำคือการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ครอบคลุมสินค้าการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ การกระตุ้นการเดินทางและจัดประชุมสัมมนาของภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบพรีเมียมเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการจัดให้มีคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนไทยเที่ยวไทยอย่างจริงจัง โดยแผนงานต่างๆนั้นต้องเริ่มทำตั้งแต่ช่วงนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดความพร้อม เกิดสินค้าทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ยกระดับมาตรฐานและมีศักยภาพพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป

Related posts