ความเครียด!! หนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก กลุ่มพลังร่วมจัดงาน “รวมพลังสู้..รู้ทันมะเร็งต่อมลูกหมาก”

กลุ่ม พลัง (PARANG) หรือ Prostate cancer AwaReness for pAtieNt by expert Group เป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะที่มีความสนใจเฉพาะทางในการดูแลรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ เป็นพลัง และแรงผลักดันให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างถูกต้องต่อภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับโรค และมีการรณรงค์ให้มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที เนื่องจากในปัจจุบันการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนสามารถทำได้ง่ายขึ้น ทางกลุ่ม พลัง (PARANG) จึงมีความตั้งใจที่จะเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร และให้ข้อมูลเรื่องโรคมะเร็งต่อมลูกหมากตามหลักวิชาการ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นประโยชน์จึงได้รวมตัวกันจัดงาน “รวมพลังสู้..รู้ทันมะเร็งต่อมลูกหมาก” ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ โดยมีผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยให้ความสนใจเข้าร่วมฟังจำนวนมาก

ผศ.นพ. ชูศักดิ์ ปริพัฒนานนท์ ประธานกลุ่ม PARANG กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะที่ดูแลรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ได้มารวมตัวกันในนามกลุ่ม PARANG (Prostate cancer AwaReness for pAtieNt by expert Group) กล่าวว่า ความเครียด หนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนอกจากสาเหตุพื้นฐานเช่น อายุ พันธุกรรม กันไปแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อเซลล์มะเร็งนั่นคือความเครียด ซึ่งหากนานวันก็ยิ่งสะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทำงาน ถึงแม้ว่าจะอายุไม่ถึง 50 ปี ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดแต่หากมีความเครียดสะสมก็มีโอกาสที่จะเกิดเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้เช่นกัน

ปัจจุบันผู้ชายอายุประมาณ 40 มีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเท่าตัวและเพิ่มอัตราความเสี่ยงการเกิดโรคถึง 10% ในทุกๆ ช่วงอายุ 10 ปี เพราะวิถีชีวิตประจำวันของคนสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปหลายคนทุ่มเทให้กับการทำงานท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้เวลาพักผ่อนน้อยลง อาหารที่รับประทานเข้าไปก็เน้นสะดวก ทานง่าย รวดเร็วจำพวกอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ไม่ค่อยมีส่วนประกอบของผักผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายบางคนก็ยังไม่มีเวลาออกกำลังกายอีกด้วยหลายสิ่งหลายอย่างประกอบกันนานวันเข้าจึงส่งผลให้เซลล์มะเร็งก่อตัวขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว สาเหตุของความเครียดแปรเป็นมะเร็ง

แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่าความเครียดจะทำให้เกิดมะเร็งได้โดยตรงแต่จากการศึกษาบางแห่งก็พบว่าความเครียดทำให้ฮอร์โมนบางชนิดหลั่งออกมาส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลงรบกวนกระบวนการของ

เซลล์ในการป้องกันการเกิดมะเร็งและยังไปกระตุ้นขยายขนาด เร่งการแพร่กระจายของเซลล์โดยเฉพาะหากความเครียดสะสมยาวนานก็ย่อมส่งผลเสียได้มากกว่าปกติ

นอกจากความเครียดสะสม ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่จะเป็นตัวเร่งยิ่งทำให้เกิดโรคได้ง่ายในคนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก เวลาพักผ่อนไปเพียงพอ หากมีความเครียดสะสมด้วยแล้วก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากกว่าผู้ที่ดูแลรักษาสุขภาพ จึงแนะนำให้หันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียด กระตุ้นการหลั่งสารเอ็นโดรฟิน และพักผ่อนให้เพียงพอ

ปัจจุบัน โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้ชายจากทั่วโลก รองจากมะเร็งปอด โดยประเทศไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มะเร็งต่อมลูกหมากเคยมีสถิติอยู่ที่อันดับ 9 ของโรคมะเร็งที่พบมากในผู้ชายไทย แต่ปัจจุบันพบว่าขึ้นมาติดอันดับ 4 โดยอัตราการเกิดของโรคอยู่ที่ 7.5 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

ผศ.นพ. ชูศักดิ์ กล่าวว่า ชายไทยสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มแพทย์ PARANG จึงให้ความสำคัญในการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคจะเป็นไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ตัวผู้ป่วยเอง หรือญาติผู้ดูแลก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือถ้ารู้ก่อนเท่าทันโรคในระยะแรกๆก็สามารถรักษาให้หายได้ ทางกลุ่มแพทย์ PARANG จึงได้ร่วมกันจัดงาน “รวมพลังสู้..รู้ทันมะเร็งต่อมลูกหมาก” ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจดังนี้

▪️ พูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ เกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในปัจจุบัน และไขทุกข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

▪️ เปิดตัว VTR “Blue Valentine : The Early Detection will be The Great Protection”

▪️ เปิดเคล็ดลับ ความสำเร็จพิชิตมะเร็ง ของอดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก

▪️ “ปลุกพลังฮีโร่..ในตัวคุณ” Gentleman Charity Ride ไปกับ ดอม เหตระกุล

▪️ ด้วยรัก และใส่ใจห่างไกลมะเร็งต่อมลูกหมาก โดย ปุ๊ มนตรี เจนอักษร และ ปาล์ม ธัญวิชญ์ เจนอักษร

Related posts