พื้นที่ต้นแบบ อพท. รายได้โตกว่า 20% “พิพัฒน์” ย้ำจุดยืนท่องเที่ยวพร้อมขึ้นแท่นกระทรวงเศรษฐกิจ

“พิพัฒน์” มั่นใจ อพท. เติมเต็มพัฒนาซับพลายป้อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตแบบยั่งยืน เผยปี 2562 พื้นที่ต้นแบบชุมชนมีรายได้เพิ่มร้อยละ 20.14  ใช้ท่องเที่ยวช่วยเกิดการกระจายรายได้ (Gini) เฉลี่ย 0.315  ด้วยหลักการทำงานผ่าน 2 องค์ความรู้หลักคือ GSTC และ CBT Thailand  พัฒนาชุมชนทำท่องเที่ยวยั่งยืน

ในพิธีเปิดงานประชุมสัมมนา DASTA Forum 2019  “มองมิติใหม่เพื่อการท่องเที่ยวไทยที่ยั่งยืน” นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า  ตามที่ได้มอบนโยบายให้แก่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับเป็นแนวทางการดำเนินงาน คือ  ความปลอดภัย (Safety) ความสะอาด (Green) ความเป็นธรรม (Fair) และกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ(Sustainability)

 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. แม้เป็นหน่วยงานที่เพิ่งเข้ามาในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ในการทำงาน อพท. ถือเป็นหน่วยงานสำคัญ  เป็นหน่วยงานต้นน้ำที่เข้ามาเติมเต็มการทำงานด้านการท่องเที่ยว ด้วยภารกิจการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับ ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว เป็นฐานสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ส่วนหน่วยงานกลางน้ำคือกรมการท่องเที่ยว และปลายน้ำคือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่ทำการตลาด

 อพท. สร้างซัพพลายการท่องเที่ยวมั่นคง

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมียอดรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.38 ล้านล้านบาท ดังนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  รัฐบาลกำหนดเป้าหมายไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้มีสัดส่วน 22% ต่อ GDP ในปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 30% ต่อ GDP ในปี 2580 แต่ทุกวันนี้แม้รายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่กลับไม่มีความยั่งยืน  เป็นภาพของการเติบโตเฉพาะฝั่ง Demand แต่ปัจจัยทางด้าน Supply กลับไม่มั่นคง

อพท. ทำหน้าที่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ สร้างต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและการท่องเที่ยวโดยชุมชน  โดยต้องออกแบบและวางแผนการพัฒนาให้เป็นไปตามกรอบความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการการทำงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้

“จากการทำงานตามซัพพลายเชน โดยมี อพท. เป็นหน่วยงานปูรากฐานให้กับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อส่งต่อให้กรมการท่องเที่ยว และ ททท. ไปนำเสนอขาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงตั้งเป้าหมายผลักดันความสำคัญของกระทรวงการท่องเที่ยว ก้าวสู่การเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ”

ปัจจัยที่จะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว คือ การมีหน่วยงานอย่าง อพท.  ที่สามารถพัฒนาจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรม และชุมชน ให้มีการบริหารจัดการที่ดี การท่องเที่ยวจึงเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน เกิดการสืบสาน เกิดเป็นความสุข และรอยยิ้ม ของผู้คน ที่พร้อมจะผนึกกำลังนำพาท่องเที่ยวของประเทศไทยก้าวสู่การเป็นหนึ่งในการแข่งขันระดับโลก

ใช้ท่องเที่ยวเพิ่มเงินในกระเป๋าให้ชุมชน

นายทวีพงษ์  วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า  จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อพท. สามารถนำเสนอผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ที่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวต่อไปนี้

  1. ด้านความปลอดภัย (Safety) ได้ดำเนินการพัฒนาระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม และการพัฒนาระบบการรักษาความปลอดภัยและให้บริการแก่นักท่องเที่ยวตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก
  2. ด้านความสะอาด (Green) ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมสถานประกอบการโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีสถานประกอบการได้รับรางวัล Green Hotel จำนวน 23 แห่ง
  3. ด้านความเป็นธรรม (Fair) ได้ดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ (Tourism for all) และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในการพัฒนามาตรฐานสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ เป็นต้น
  4. ด้านการกระจายรายได้สู่ชุมชน และลดความเหลื่อมล้ำ (Sustainability) ได้ดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น และดัชนีการกระจายรายได้ (Gini) เฉลี่ย 0.315 ซึ่งเป็นค่าที่ดีกว่าการกระจายรายได้ของทั้งประเทศ เป็นตัวเลขที่ยื่นยันว่าท่องเที่ยวสามารถเป็นกลไกสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับชุมชนได้จริง

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการยืนยันการดำเนินงานและความสำเร็จของ อพท. ในงาน DASTA Forum 2019 ยังได้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานของ อพท. ที่น่าสนใจ อาทิเช่น การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเราได้ใช้ “ใจ” มารวมเป็นพลังในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ CBT Thailand  มีชุมชนต้นแบบในการพัฒนามากกว่า 40 ชุมชน การพัฒนาการท่องเที่ยวภายใต้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC การพัฒนาความร่วมมือการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้โครงการ “สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง” และการส่งเสริมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ชุมชนในพื้นที่พิเศษ ซึ่งผลการจัดเก็บข้อมูลปี 2562  ชุมชนที่ อพท. เข้าไปพัฒนามีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.14 และผ่านเกณฑ์ระดับความอยู่ดีมีสุขที่ อพท. กำหนดร้อยละ 87.59

จากการนำเสนอข้อมูลในงานต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นในวันนี้ ถือเป็นการเปิดมุมมองการพัฒนารอบด้านของ อพท. ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา ทั้งเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยกระบวนการทำงานที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืนและสร้างความสุขที่แท้จริงให้กับชุมชนในพื้นที่พิเศษและนักท่องเที่ยวในอนาคต ต่อไป

Related posts