แต่ละบูธพูดถึงยอดหนังสือ ส่วนใหญ่พอใจในงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” ณ สถานีกลางบางซื่อ

              จากที่เปิดอย่างเป็นทางการสำหรับงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50”  และ “สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20” เริ่มเมื่อวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม จนถึงวันที่ไปถามไถ่บูธต่าง ๆ ก็ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์ และเหลืออีกเพียง 3 วัน โดยในวันพุธที่ 6 เมษายน 2565 จะเป็นวันสุดท้ายของการจัดงาน ที่เปิดประตูเวลา 10.00 – 21.00 น. ณ สถานีกลางบางซื่อ

พี่วิทย์ หรือ “ณรงค์วิทย์” เจ้าของร้าน “55 BOOKSTALL”

              โดยได้เจอ พี่วิทย์ หรือ “ณรงค์วิทย์” เจ้าของร้าน “55 BOOKSTALL” ที่ทุกปีที่งานหนังสือจัดจะเห็นมาเปิดบูธกินพื้นที่กว้างพร้อมนิยายทำมือจากหลาย ๆ นามปากกา ทว่าปีที่แล้วงานหนังสือถูกระงับ เพราะวิกฤตโควิดระบาดหนัก ร้านหนังสือของพี่วิทย์ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อได้กลับมาเปิดบูธภายในงานหนังสือนี้จึงคว้าตัวพี่วิทย์มาเล่าถึงผลกระทบและรายได้จากการเปิดบูธในงานนี้ว่า

              “ร้านเราเปิดที่จตุจักรอยู่แล้ว แต่มาเปิดที่งานอย่างน้อยเราอยากให้ลูกค้าที่อั้นมานาน อั้นมาสามครั้งก็จะได้มาเจอกันที่นี้ ที่สำคัญที่สุดก็คือคนที่โดนกักตัวโควิดอยู่สองสามปีเขาจะได้มาเจอเพื่อนกันที่นี้เลย ก็โอเคฮะมาเปิดที่นี่ก็โอเคอยู่ จากวันแรกที่เปิดงานจนมาถึงวันนี้ (วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน) ก็ดีในระดับหนึ่งครับ ก็ดีกว่าที่เปิดขายที่จตุจักรในระดับหนึ่ง แต่เป็นหนังสือบางอย่างนะฮะ เพราะหนังสือในร้านเราที่จตุจักรมีหลายแนว อาทิ นิยายทำมือ นิยายจีน นิยายวาย และหนังสือภาษาอังกฤษ หนังสือการ์ตูน คือมันหลากหลายครับ แต่ที่นี่เราเน้นนิยาย และนิยายจีนที่ลูกค้าเขาตามกันตอนเปิดบูธศูนย์ประชุมเขาตามกันมาหลายปี พอเรามาเปิดบูธลูกค้าจะมาถามหาทั้งนิยายไทย นิยายจีน นิยายวายฮะ จากที่เปิดมาวันแรกจนวันนี้ก็พอใจระดับหนึ่งถึงมันจะไม่เต็มที่ และได้สมาชิกใหม่แถมลูกค้าเขาแฮปปี้ด้วยมีหนังสือใหม่ ๆ เข้า ก็ถือว่าดีครับ”

มุก หรือ “ณัฐวีร์ บุตรากาศ” เจ้าของสำนักพิมพ์บุ๊คกิชเฮ้าส์

              นอกจากบูธที่เห็นหน้ากันมานานก็ยังมีอีกบูธที่กำลังฮิตสำหรับ “สำนักพิมพ์บุ๊คกิชเฮ้าส์ ” ออกบูธร่วมกับสำนักพิมพ์มิวเซส c09 โดย มุก หรือ “ณัฐวีร์ บุตรากาศ” เจ้าของสำนักพิมพ์บุ๊คกิชเฮ้าส์แนวคนรุ่นใหม่ที่คร่ำหวอดในวงการนิยายวายมาอย่างช่ำชองจนรู้ว่านิยายแนวไหนที่สาววายยอมควักเงินซื้ออย่างไม่ลังเล จึงรีบคว้าตัวมาพูดคุย โดยมุกเผยว่า

              “ปีที่แล้วที่งานจัดไม่ได้เขามีเว็บ ไทยบุ๊กแฟร์ให้เข้าร่วม และเราก็ขายร่วมกับ Shopee และLAZADA เราก็ขายออนไลน์ไปค่ะ จริง ๆ เราก็เน้นขายออนไลน์กันอยู่แล้วแต่พอมีงานเราเลยมาร่วมงานด้วยแต่พองานไม่ได้เปิดเพราะสถานการณ์โควิดเราเลยเข้าสู่ออนไลน์เต็มที่เลย ยอดก็ได้เรื่อย ๆ ค่ะ เพราะโควิดระบาดคนก็ไม่กล้าออกจากบ้าน คนก็เน้นซื้อออนไลน์กันค่ะ จากวันแรกที่เปิดงานจนวันนี้ (วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน) ยอดหนังสือก็เป็นที่น่าพอใจนะคะ เพราะตอนแรกคิดว่าคนอาจยังไม่กล้ามาเดินแต่คนเยอะกว่าที่คิดไว้ ก็ได้ผลตอบรับดีรวมทั้งยอดเป็นที่น่าพอใจค่ะ นิยายเรื่องที่นักอ่านมาถามหากันเยอะจะเป็นนิยายวายแปลจีน และเรื่องที่ขายดีเรื่อง “ท่านจอมพลจงมาเป็นอาหารของข้าเสียดี ๆ” จริง ๆ ตลาดไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากมายแต่วายไทยจะมีทั้งหนังสือทั้งอีบุ๊กใช่มั้ยคะ แต่นิยายวายแปลจีนบางเจ้าเขาให้ลิขสิทธิ์เราแค่ตัวเล่มไม่มีอีบุ๊กคนก็ต้องมาเก็บเล่มกัน แต่บางเรื่องอาจจะมีทั้งสองอย่างก็จะเฉลี่ย ๆ กันไปค่ะ ซึ่งมันวัดกันไม่ได้ว่านิยายวายไทยกับนิยายวายแปลจีนอะไรดีกว่าหรือไม่ดีกว่า เพราะคาแรคเตอร์ต่างกันค่ะ ก็คิดว่าวันสุดท้ายยอดก็น่าจะดีเหมือนกันค่ะ”

              ได้สัมภาษณ์เจ้าของบูธไปสองบูธเป็นบูธที่นักอ่านให้ความสนใจ และนี่ก็เป็นอีกบูธถ้าไม่สัมภาษณ์คงไม่ได้ เพราะตั้งแต่ไปทำข่าวงานสัปดาห์หนังสือที่จัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติฯ จนย้ายไปจัดตามเจ้าภาพงานหาสถานที่ และล่าสุดมาเปิดบูธสถานีกลางบางซื่อก็ยังเห็นบูธที่จำหน่ายหนังสือราคาถูก เล่มละ 20 มีทุกแนว ตั้งแต่นิยาย หนังสือทำขนม ทำอาหารหรือปลูกมะนาว ฯลฯ แม้แต่นิยายวายก็ลด 50 เปอร์เซ็นต์ เลยต้องกระแซะเข้าไปดูว่าครั้งนี้ขนหนังสืออะไรมาให้นักอ่านได้รื้อ ได้ซื้อกลับไปอ่าน ก่อนจะจีบ น้องปิ่น หรือ “ปิ่นปินัทธ์  คงอาษา” ทายาทเจ้าของบูธ “ไทย ควอลิตี้บุ๊คส์”  A54 เราเห็นน้องปิ่นตั้งแต่เด็กมาช่วยพ่อแม่ทำงาน มาคอยเก็บเงินถือเป็นเรื่องดี โดยน้องปิ่นเล่าถึงการมาเปิดบูธพร้อมยอดหนังสือด้วยน้ำเสียงอย่างคนรู้เรื่องดีมาก ๆ ว่า

              “ยอดนี้แต่ละวันก็ไม่แน่นอนค่ะ เพราะว่าคนจะมาเดินก็กลับกันเร็วต่างจากตอนที่จัดที่ศูนย์ประชุมฯ หรือไบเทคก็จะมาเรื่อย ๆ แต่ว่าที่นี้ช่วงเช้า ๆ คนไม่ค่อยมากัน ถ้าจะมากันเยอะ ๆ ก็ช่วงเที่ยงหรือหลังเที่ยงค่ะ แต่พอหกโมงหรือทุ่มหนึ่งคนก็เริ่มซาแล้วค่ะ ในส่วนของยอดจำหน่ายจากวันแรกจนวันนี้ (วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน) ก็ได้ ไม่ถือว่าขาดทุนมากค่ะ ถือว่าได้กำไรนิดหน่อย หนังสือที่คนอ่านสนใจมากก็แล้วแต่โซนนะคะ ถ้าเป็นโซน 20 บาท ที่สนใจมาก ๆ ก็การ์ตูน หรือพวกหนังสือนิทานชาดกประมาณนี้ และหนังสือเรียนก็ขายดีค่ะ ส่วนโซน 50 บาท พวกหนังสือปกแข็งภาษาอังกฤษก็ขายดี และโซนลด 50 เปอร์เซ็นต์ก็ขายได้เรื่อย ๆ ค่ะ ไม่มีอะไรโดดเด่น เพราะนิยายจากวันแรกเราขายครึ่งราคาก็ได้ปรับราคาเหลือเล่มละหนึ่งร้อยค่ะ ก็ถือว่ายอดได้เรื่อย ๆ ไม่ได้เท่ากับออนไลน์ค่ะ”

              จากได้พูดคุยกับเจ้าของบูธทั้งสามก็บังเอิญเจอบูธที่ไม่ได้มาจำหน่ายหนังสือ แต่มาขอความอนุเคราะห์จากนักอ่านบริจาคเงินเพื่อให้น้อง ๆ ได้ซื้อหนังสือที่ต้องการอ่านในโครงการที่อยู่คู่งานชื่อ โครงการ “1 อ่าน ล้านตื่น”

              “โครงการ 1 อ่าน ล้านตื่น ของเรานะคะ จัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย โครงการเกิดมาพร้อมกับงานหนังสือเลยค่ะ เราจะไม่ได้รับบริจาคหนังสือโดยเฉพาะ เราจะรับบริจาคเป็นเงินและซื้อของที่ทางโครงการนำมาจำหน่าย เพื่อจะนำเงินไปซื้อหนังสือให้น้อง ๆ น้องเป็นนักเรียนที่ยากไร้จะอยู่ชั้นอนุบาล 3 ถึงชั้นประถม เราจะไปเลือกซื้อหนังสือให้น้อง ๆ หรือบางโรงเรียนก็จะมาที่นี่เพื่อเลือกซื้อด้วยตนเองก็มีค่ะ ผลตอบรับของผู้มาเดินงานน้อยก็บริจาคนะคะ แต่ซื้อของจะน้อย แต่ถ้างานไหนทำของมาจำหน่ายดี น่ารัก ก็จะได้รับความสนใจ ก็อยากจะขอฝากโครงการ 1 อ่าน ล้านตื่นของสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศไทยอยากจะขอให้ร่วมกันบริจาคเงิน หรือช่วยซื้อของเพื่อเป็นทุนให้น้อง ๆ ได้มีหนังสือดี ๆ หรือหนังสือที่อยากอ่าน และน้อง ๆ จะได้มีกำลังใจในการเรียนต่อไป เพราะถ้าได้รับบริจาคน้อยน้อง ๆ ก็จะได้หนังสือกันไม่กี่เล่มค่ะ”

              นับถอยหลังงานสัปดาห์หนังสือที่เหลือแค่ 3 วัน ซึ่งวันพุธที่ 6 เมษายน 2565 จะเป็นวันสุดท้าย ก็ไปเลือกหนังสือจากบูธของสำนักพิมพ์ในดวงใจกันเยอะ ๆ น้า 

Related posts