สทท. ปิดจ๊อบ! ‘เที่ยวทั่วไทย ร่วมใจช่วยชาติ’ อัพศักยภาพผู้ประกอบการ-แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

สทท. ปิดจ๊อบโปรเจ็กต์ “เที่ยวทั่วไทย ร่วมใจช่วยชาติ” หลังจัดโรดโชว์เปิดเวทีสะท้อนปัญหา พร้อมหาแนวทางแก้อย่างยั่งยืนใน 5 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาค หวังอัพเกรดศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า สทท. ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมการท่องเที่ยว, กระทรวงสาธารณสุข, กรมอนามัย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) จัดโครงการ “เที่ยวทั่วไทย ร่วมใจช่วยชาติ” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพมาตรฐาน การท่องเที่ยวองค์รวม และแนวทางการจัดการของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวระหว่างและหลัง สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ (COVID-19)

ทั้งนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน ได้ส่งผลต่อหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก ที่สามารถทำรายได้ให้กับประเทศและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจประเทศไทย จึงทำให้การพัฒนาและการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเป็น สิ่งสำคัญ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สำหรับการจัดงานในวันนี้ (24 กันยายน 2564)จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการปิดโครงการดังกล่าวและสรุปผลการดำเนินงาน หลังจากได้จัดไปยัง 5 พื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต อุดรธานี ประจวบคีรีขันธ์ และระยองในช่วงตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วโดย ภายในงานวันนี้ได้รับเกียรติจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ที่จะมาเป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางการท่องเที่ยวไทยใน อนาคต” รวมถึงมีการบรรยายจากผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการ และเวทีระดมความคิดเห็น หัวข้อ “ทางออก อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ทำอย่างไรให้รอด!!?”

นายชัยรัตน์กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการจัดงานใน 5 พื้นที่ที่ผ่านมานั้น ได้รับฟังความคิดเห็นจาก ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งปัญหาของผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงปัญหาของพื้นที่ ขณะเดียวกัน ยังมีการนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น ปัญหาเรื่องการหดตัวของนักท่องเที่ยว การขาดหายของรายได้ การขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการ การเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาทางการเงินของภาครัฐ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังสะท้อนความต้องการในการแก้ปัญหา อาทิ การกระตุ้นอุปสงค์การท่องเที่ยวในพื้นที่แนวทางการจัดตั้งกองทุนหรือธนาคารเพื่อการท่องเที่ยว

Related posts