15 ปี“อ้อม-พิยดา”คืนจอภาพยนตร์พลิกบทตัวแม่สายเกมใน“Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่”

หวนคืนจอภาพยนตร์อีกครั้งในรอบ 15 ปี สำหรับ อ้อม-พิยดา อัครเศรณี พลิกบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง“Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่” ผลิตโดย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล ผลงานกำกับของ เสือ ยรรยง โดยอ้อมพูดถึงการตัดสินใจรับบทในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า

“เราเลือกเพราะความน่าสนใจของบทหนังมากกว่า ซึ่งกับเรื่องนี้พออ้อมมาลองคิดวิเคราะห์ดูถึงความเปลี่ยนแปลงไปในสภาพสังคมแล้ว ก็คิดว่ามันน่าสนใจที่จะได้อัปเดตตัวเองใหม่ ๆ ไปกับโลกของเราตอนนี้ที่มันถูกพัฒนาไปไกลพอสมควร และยังได้เรียนรู้อีกว่าเด็กสมัยนี้เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราตัดสินใจรับแสดงหนังเรื่องนี้ ส่วนคาแรคเตอร์ของ เบญจมาศ เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ก็เคยมีความฝัน เธอมีแบ็กกราวน์ที่อยากออกนอกกรอบไปใช้ชีวิตของตัวเอง และค้นพบว่าสภาพสังคมมันบีบคั้นให้เธอจำต้องกลับเข้ามาอยู่ในกรอบตามเดิม นั่นเลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเบญจมาศถึงต้องเข้มงวดกับ ‘โอม’ (ตน ต้นหน) ลูกชายมากขนาดนั้น ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่ใช่คนแบบนั้นเลยนะ มันจึงมีความย้อนแย้งกันอยู่พอสมควรในตัวละครตัวนี้ และพอเกิดเหตุการณ์ที่ลูกอยากจะเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต อันนำไปสู่เหตุการณ์แม่ต้องเอาชนะลูกในเกมให้สำเร็จ เราก็จะสัมผัสได้ถึงปูมหลังของเบญจมาศที่เคยเป็นคนสนุกสนาน และการได้ลองกลับไปเป็นเด็กวัยรุ่นอีกครั้ง ถามถึงการเตรียมตัวเพื่อรับบทเกมเมอร์ตัวแม่ จริง ๆ เบญจมาศไม่ใช่แม่ยุคใหม่เลยนะ เบญจมาศคือ Super Old School ตัวจริงเลย แต่ว่าเขามาได้เรียนรู้ในระหว่างทางมากกว่า นั่นก็คือ การจับพลัดจับผลูได้เรียนรู้จากเด็กในกลุ่มที่เล่นเกมด้วยกัน และค้นพบว่าการเข้าถึงเด็กยุคนี้มันควรจะเป็นยังไง ซึ่งอ้อมเชื่อว่าแม่ทุกคนมีนะ โดยเฉพาะกับแม่สมัยใหม่ที่จะต้องปรับตัวให้ทันเด็ก ต้องหันกลับมามองตัวเองบ้าง และขณะเดียวกันก็ต้องใส่ใจทางฝั่งของลูกด้วย เราคิดว่าถ้ามีครูเบญจมาศในชีวิตจริงสัก 10 คนมันก็คงจะดีนะ คือเด็กเขาเล่นเกมอยู่แล้ว แต่ว่าต้องให้รู้จักเวลา และที่สำคัญคืออนาคตของเขาก็ต้องไม่เสียเปล่าไปด้วย

ซึ่งการรับบทเป็นครูเบญจมาศอาจจะไม่ต้องปรับอะไรเยอะสำหรับอ้อม แต่พอมาเป็นครูเบญจมาศที่ต้องมาเล่นเกมในพาร์ตหลังแล้วเนี่ย มันทำการบ้านเยอะมาก ๆ เพราะเราเป็นคนไม่ได้เล่นเกม จึงต้องฝึกเล่นเกมให้เป็น ต้องรู้รายละเอียดทั้งหมด โดยเฉพาะคาแรคเตอร์ในเกมทั้งหมดซึ่งแต่ละตัวก็จะมีหน้าที่แตกต่างกัน รวมถึงมีเทคนิคการเล่นไม่ซ้ำกันเลยด้วย และยิ่งถ้าเป็นตัวที่เราถนัดมันก็จำเป็นต้องรู้ลึกลงไปอีกว่า ตัวนี้สกิลมีแค่ไหน ควรเล่นยังไง และสนับสนุนตัวละครอื่น ๆ อย่างไรบ้าง นี่คือส่วนที่เป็นการบ้านชิ้นยากสำหรับเราเลยก็ว่าได้ ฉะนั้นตอนกลับบ้านไปก็นั่งเล่น ๆ ให้จำให้ได้มากที่สุด เหตุที่เบญจมาศจับพลัดจับผลูไปเล่นเกม เพราะเนื่องจากเกมมันต้องมีผู้เล่น 5 คน แต่ดันหายไปคนหนึ่ง แล้วใครที่จะมาเล่นแทนถ้าไม่ใช่ครูเบญจมาศ (หัวเราะ) พอเจอเทคนิคที่เด็ก ๆ สอนเราในการเล่นก็คือ ใช้ทักษะในชีวิตจริงมาอธิบาย และบางครั้งก็มีดาบมาไล่ฟัน ๆ ให้หลบหลีก เพราะตัวละครไม่รู้ว่าต้องหลบอะไร คำอะไรก็ไม่คุ้น หรือบางครั้งก็ใช้วิธีปาอาวุธใส่กันเป็นพลังเหมือนในเกม และยิ่งได้มาอยู่ในโลกของเด็กด้วยแล้ว ความสนุกก็ต้องมีมาแน่นอน ทำให้เราคิดในแง่ว่าการลองเข้าไปสนุกกับพวกเขาบ้าง มันอาจจะทำให้รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ แถมได้อัปเดตตัวเองว่ายังเป็นคุณแม่วัยรุ่นอยู่ แล้วทีนี้เบญจมาศก็ไม่ใช่เบญจมาศคนเดิมอีกต่อไปแล้ว

ส่วนการร่วมงานกับ“ตน ต้นหน” เป็นนักแสดงที่น่ารักมาก ตั้งใจทำงาน และมีความรับผิดชอบสูง จนเราต้องขอชื่นชมเลยค่ะ ยิ่งตอนที่เราต้องถ่ายทำฉากแรกของหนังก็คือซีนปะทะอารมณ์ ต้นหนเองก็จะเล่นส่งให้เราเแบบร้องไห้โฮตลอด และส่งให้แบบนี้ทุกเทก เราถ่ายไป 20 เทก เขาก็ร้องส่งให้ทั้ง 20 เทก จนเรานึกในใจไม่ต้องร้องขนาดนั้นก็ได้ลูก (หัวเราะ) แต่พอเขาใช้ทักษะฝีมือแบบใส่พลังมาเกินร้อยในทุก ๆ ซีนของการถ่ายทำ มันทำให้เห็นเลยว่าต้นหนเขาสุดยอดมากขนาดไหน แล้วไม่ว่าจะเป็นซีนเครียด ๆ ซีนแอคชั่น หรือซีนสนุกสนาน เขาเอาอยู่หมด แถมไต่ระดับมันขึ้นไปอีก ซึ่งเราเองก็กลัวว่าน้องจะพลังแผ่ว แต่ก็โชคดีตรงที่เขาสามารถควบคุมมันได้ แม้ว่าบางครั้งพลังของเขาจะหายไปบ้างก็ตาม (หัวเราะ) จากเกมแม่เจอทีมเกมพ่อ พวกเขาจะเลือกเอาของดีที่สุดออกมาใช้ตลอด เช่น ‘พี่เสือ ยรรยง’ เขาจะเป็นคนมองภาพรวมทั้งหมดว่าเขาอยากได้ยังไง และอธิบายได้อย่างเห็นภาพ มี ‘‘ครูเอ นัฐพงศ์’ แอคติ้งโค้ชที่เก่งรอบด้าน หากตรงนี้เราไม่ได้ก็จะขอข้อมูลเพิ่ม เขาเองก็จะบิ้วตรงนี้ให้อารมณ์มันออกมาชัดเจนที่สุด ส่วน ‘พี่เอ็ม สุรศักดิ์’ ก็ละเอียดมาก ไม่ปล่อยเลยสักซีน ขณะที่ ‘พี่แอ้น ภาเกล้า’ ก็เริ่ดมากเลยนะ ถ่ายได้เจ๋งมากกับวิชวลของเขา มุมมองภาพของเขา และตอนถ่ายก็จะใส่หูฟังเสมอ ซึ่งอันนี้คือการทำการบ้านของเขาในทุกฉากว่าฉากนี้จะใช้เพลงอะไร เขาจะถ่ายแบบไหน Mood & Tone หรือแม้แต่การแพนกล้อง เขามีเพลงอยู่ในหัวตลอด เราก็โอ้โหว้าวเลยเพราะมันละเอียดจัดมาก พี่แอ้นทำให้ทุกฉากมีความสำคัญเท่ากันหมด ไม่มีฉายไหนลอย ไม่มีฉากไหนพัง และทำให้โลกของหนังมันค่อนข้างชัดเจนนะ กลายเป็นโลกของ ‘‘Mother Gamer เกมเมอร์ เกมแม่’ ที่คนดูจะเชื่อว่าโลกใบนี้มีอยู่จริง และข้อคิดดี ๆ จากหนัง “Mother Gamer” คือ เราจะได้รู้ว่าการที่คนเป็นพ่อแม่คาดหวังกับลูกมากเกินไปนั้น โดยเฉพาะคนที่มีลูกวัยกำลังโตก็จะเข้าใจถึงความต้องการของเด็ก และเข้าใจตัวเองไปพร้อมกันด้วยว่า เราจะเข้าไปหาพวกเขายังไง และปรับจูนกับโลกของเขาอย่างไรบ้าง เพราะเกมมันเป็นอีกพาร์ตหนึ่งของชีวิตเขา แล้วพอมาถึงวันหนึ่งเกมมันก็จะหายไปจากชีวิต ยิ่งถ้าเขาไม่ได้เรียนหนังสือเลยก็จะไม่โอเคสักเท่าไร ซึ่งในชีวิตจริงก็มีตัวอย่างมาให้เห็นกันเยอะแล้ว แต่ในเรื่องนี้ก็มีตัวละครซึ่งเขาสามารถพลิกตัวกลับมาเป็นคนดีได้ ฉะนั้นพอมาดูMother Gamer ก็จะได้ทั้งพาร์ตของเด็กและผู้ใหญ่ที่เอามาปรับใช้กับชีวิตเราได้


Related posts