“ราชทัณฑ์เดินหน้าต่อ…ประชุมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ครั้งที่ 8 พร้อมศึกษาดูงานเรือนจำกลางคลองเปรม และทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง”

วันที่ 13 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 นาฬิกาทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางและเรือนจำกลางคลองเปรม ถนนงามวงศ์วาน แขวง ลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร   ดร.โฆสิต  สุวินิจจิต ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุม (ครั้งที่ 8) พร้อมเข้าศึกษาดูงานภายในทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และเรือนจำกลางคลองเปรม เพื่อร่วมหารือถึงแนวทางการออกแบบโครงสร้างและการบริหารจัดการเรือนจำอุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง โดยมีนายกิตติพัฒน์ เดชะพหุล รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนางสาวปรีย์ธิดา  สมจิตร  ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย ให้การต้อนรับ และร่วมการประชุมดังกล่าว

กรมราชทัณฑ์ ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี ในการร่วมหาแนวทางเพื่อจัดพื้นที่ดำเนินการใกล้แหล่งงาน ซึ่งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์  เป็นอีกแนวทางหนึ่ง เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง ให้สามารถคืนคนดีสู่สังคมได้แท้จริงและยั่งยืน ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และยังสามารถพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขัง และยังสามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ รวมถึงสร้างชุมชนคนเคยติดคุกที่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีการติดตามดูแล ป้องกันไม่ให้กลับเข้าสู่การกระทำผิดซ้ำอีก โดยในการประชุมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก

          ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษา และผู้ร่วมให้แนวคิด “เรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุนในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้พ้นโทษเพื่อประกอบอาชีพอิสระ และการดำรงชีวิตหลังพ้นโทษอย่างมีคุณภาพ”

โดยกรมราชทัณฑ์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์จะสามารถแก้ไขปัญหาความแออัดของผู้ต้องขังในคุกได้ในระดับหนึ่ง และเป็นการลดปัญหาอาชญากรรมซ้ำซ้อน อีกทั้งป้องกันไม่ให้ผู้ที่เคยต้องโทษจำคุก กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก รวมถึงประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ ผู้ต้องขังถือได้ว่าเป็นแหล่งแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพดี ค่าแรงงานถูก มีระเบียบวินัย สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเกิดผู้ประกอบการใหม่ รวมถึงเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการของราชทัณฑ์ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสังคมอีกด้วย

Related posts