รมว.ศธ.ฟันธง…ครูต้องได้รับการพัฒนา พร้อมทำงานร่วมสมาพันธ์หน่วยพัฒนาครู

เมื่อวันศุกร์ ที่ 6 กันยายน 2562 เวลา 14.00น. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชุมหารือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ ดร.สุรัตน์ ยุทธเสรี ประธานสมาพันธ์หน่วยพัฒนาครูแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษา และคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ ฯ จำนวน 17 คน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินงานโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือ “คูปองครู” ในปีงบประมาณ 2562 – 2563 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องจากการดำเนินงานในปี 2560 – 2561

ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จและเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในชุดที่ผ่านมา ดังข้อมูลสรุปรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาครูแบบครบวงจร ประจำปีงบประมาณ 2561 ของสำนักพัฒนาครู สพฐ. ที่สะท้อนความสำเร็จทั้งในด้านความคุ้มค่าของการใช้เม็ดเงินงบประมาณ ด้านประสิทธิภาพ และความครอบคลุมในการอบรมพัฒนาครูทั้งประเทศในระยะเวลาอันจำกัด รวมทั้งเสียงสะท้อนถึงความพึงพอใจของครูและผู้บริหารสถานศึกษาทั้งประเทศซึ่งอยู่ในระดับมาก

ดร.สุรัตน์ ยุทธเสรี ประธานสมาพันธ์ ได้กล่าวนำว่า สมาพันธ์ได้ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมเอเชีย เพื่อรวมพลังหน่วยพัฒนาครู อันได้แก่ นิติบุคคล สถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการ ซึ่งได้จดทะเบียนกับสถาบันคุรุพัฒนา ประมาณ 100 หน่วย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับคุณภาพการพัฒนาครู สู่การยกระดับคุณภาพของผู้เรียน ด้วยการดำเนินงานตามนโยบายโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือ “คูปองครู”ของ สพฐ. มาโดยตลอด

ดังนั้น สมาพันธ์ ฯ จึงเป็นพันธมิตรที่ดีของกระทรวงศึกษาธิการ ในการร่วมพัฒนาครู สู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ภายใต้แนวคิด “คูปองครู สู่ผู้เรียน” ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

ในที่นี้ ผศ.ดร.ฉัตรแก้ว ใจงาม ที่ปรึกษาสมาพันธ์ ฯ ได้กล่าวเสริมถึงความ “เป็นมา” ของโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจรว่า เป็นโครงการที่ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักคิด ด้วยพระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของครูว่าเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา “ครูที่ดี สอนดี และทำให้นักเรียนเก่ง ต้องได้รับรางวัลตอบแทนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน” จึงเกิดระบบการอบรมพัฒนาครู เพื่อสร้างครูเก่งให้ไปสอนนักเรียนให้เก่งขึ้น และให้การปฏิบัติหน้าที่ในการสอนตามภาระงานปกติของครูแล้วส่งผลสัมฤทธิ์ไปยังตัวผู้เรียนเป็นรางวัลตอบแทนไปสู่การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ตาม ว.21และ ว.22 /2560 ของ กคศ.

ดังนั้น การพัฒนาครูในรูปแบบครบวงจร หรือ “คูปองครู” จึงมีลักษณะเป็นโครงการประชารัฐ ที่กระทรวงศึกษาธิการ โดย สถาบันคุรุพัฒนา สำนักพัฒนาครู และ สพฐ. ทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน ทำให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดินลงได้ถึง 10 เท่า สามารถพัฒนาครูได้ถึงปีละกว่าสองแสนคน โดยครูสามารถนำความรู้และทักษะไปพัฒนาผู้เรียน ได้เป็นจำนวนมากกว่ากว่า 2 ล้านคนเลยทีเดียว

อาจารย์วนิดา จันทร์วงค์ ตัวแทนหน่วยพัฒนาครู ได้นำเสนอสิ่งที่ “เป็นอยู่” ของคูปองครูด้วยการเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เชื่อถือได้จากงานวิจัย และสรุปรายงานของหน่วยงานราชการ โดยเปรียบเทียบให้เห็นถึงผลความคุ้มค่าของการลงทุนระหว่างวิธีการในการอบรมและพัฒนาครูแบบเดิม และแบบใหม่ ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายงบประมาณ ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญของวิทยากรที่มีประสบการณ์สูง รวมทั้ง ผลลัพธ์ที่ได้ในตัวครูและตัวผู้เรียน ตลอดจนข้อดี และข้อเสียของการทำผลงานของครูเพื่อการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะแบบ ว. 17 ที่ครูต้องทิ้งห้องเรียนไปทำผลงานวิชาการ และแบบ ว21และ ว. 22/2560 ซึ่งครูสร้างผลงานวิชาการจากการนำความรู้และทักษะที่ได้จาการอบรมพัฒนา ไปสอนนักเรียนในชั้นเรียน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครู (PLC) แล้วบันทึกผลของสิ่งที่ได้ปฏิบัติจริงไว้เป็นหลักฐานร่องรอยอย่างเป็นระบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี

อาจารย์ปัญญา ทรงเสรีย์ เลขาธิการสมาพันธ์ กล่าวว่า สมาพันธ์หน่วยพัฒนาครู มิได้มาเพื่อเรียกร้องให้ท่านรัฐมนตรี มาช่วยสมาพันธ์ ฯ หรือช่วยครู แต่มาขอให้ท่านช่วยสร้างอนาคตที่ดีให้แก่ผู้เรียนในฐานะที่เขาเหล่านั้น คือ อนาคตของชาติ ดังคำขวัญที่ว่า “คูปองครู สู่ผู้เรียน” ด้วยการรักษาสิ่งที่ทำได้ดีมาอยู่แล้วมิให้ถูกทำลาย เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาจากประชาชน ท่านจึงเป็นความหวังของประชาชน ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน โดยการมาพบหารือในครั้งนี้ สมาพันธ์หน่วยพัฒนาครูแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปการศึกษาชาติอย่างยั่งยืน ดังต่อไปนี้

1) ขอให้ดำเนินโครงการพัฒนาครูครบวงจรต่อไปในปี 2562-2563 โดยอนุมัติงบประมาณรองรับ และให้มีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 62 – 31 ส.ค. 63 แล้วจึงประเมินผลอย่างเป็นระบบ

2) ควรเปิดโอกาสให้ใช้กระบวนการพัฒนาครูด้วยหน่วยพัฒนาจากทุกภาคส่วนของสังคม ที่หลักสูตรได้รับการตรวจสอบ และรับรองคุณภาพจากสถาบันคุรุพัฒนาด้วยมาตรฐานเดียวกันเท่านั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ครู และผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้และรับสิ่งใหม่ ๆ จากสังคมโลกอย่างได้มาตรฐาน

3) กระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ควรดำเนินการวิจัยและพัฒนาโครงการอย่างจริงจัง เพื่อต่อยอดไปสู่ความยั่งยืน และควรปรับปรุงแก้ไข กฎ ระเบียบ ภาระงานที่ยุ่งยากและเป็นอุปสรรคต่อโครงการ

4) ให้กระทรวงศึกษาธิการปฏิบัติตาม มาตรา 52 ของพ.ร.บ.การศึกษาฯ พ.ศ. 2542 เรื่องการจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ในลักษณะที่เป็นองค์กรอิสระ และอนุมัติกองทุนพร้อมทั้งบริหารกองทุนให้สามารถสนับสนุนโครงการได้ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องตั้งงบประมาณประจำปีอีกต่อไป

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้อนรับการมาเยือนของสมาพันธ์ ฯ ด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดียิ่ง เนื่องจากแนวคิดและรายละเอียดที่ผู้แทนสมาพันธ์ ฯ นำเสนอมาทั้งหมดนั้น มีความสอดคล้องตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ครู คือ ศูนย์กลางของการพัฒนา” ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูเป็นพิเศษ โดยจะมุ่งเน้นด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณของแผ่นดินด้วยความประหยัด และเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อครูและผู้เรียน นั่นหมายถึงว่า ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการจะต้องถึงเด็กและเยาวชน การพัฒนาครูจะต้องเป็นสิ่งที่สามารถ “จับต้องได้” ในที่นี้ รัฐมนตรีว่าการ ฯ ได้กล่าวถึงหลักสูตรอบรมครูบางหลักสูตรมีความทันสมัย โดยยกตัวอย่างว่า “…อบรมกูเกิลแอป…แล้วไง…ต้องไปถึงเด็กอย่างคุ้มค่า หลักสูตรที่อบรม ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการจัดเป็นหมวดหมู่ มีระดับของการพัฒนาที่ต่อเนื่อง จาก 1 ไป 2 และไป 3 และสุดท้ายจะต้องไปถึงเด็ก…”

นายณัฏฐพล กล่าวอย่างหนักแน่นว่า “ผมจะปกป้องเงินภาษีอากรของประชาชน ดังนั้น การจัดอบรมต้องประหยัด คุ้มค่า มีความโปร่งใส ไม่ตั้งราคาหลักสูตรเกินจริง ต้องได้ประสิทธิภาพ และอยู่ในภูมิภาคที่ครูทำงานอยู่ เพื่อที่ครูไม่ต้องเดินทางไกล เน้นประสานการใช้ทรัพยากรของโรงเรียน เช่น หอประชุม เป็นต้น และกล่าวต่อว่า “…โครงการนี้ ผมเปิดประตูกว้าง และยึดหลัก “วิน วิน วิน” หมายถึง พวกท่าน “วิน” กระทรวงศึกษาธิการ “วิน” และ เด็กต้อง “วิน” คือ ผู้เรียนต้องได้รับประโยชน์สูงสุด…”

รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า จะนำข้อเสนอแนะนี้ไปพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยขอให้ที่ปรึกษาดูงบประมาณที่จะจัดอบรมในเดือนตุลาคม 2562 นี้ แต่ต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายที่กล่าวมาแล้ว และหวังว่าสมาพันธ์ ฯ คงจะให้ความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติในโอกาสต่อไป

ดร.สุรัตน์ ยุทธเสรี ประธานสมาพันธ์ ฯ กล่าวว่า “รู้สึกพอใจมากที่ท่านรัฐมนตรี ให้การตอบรับที่ดี ครูทั้งประเทศกว่าสี่แสนคนกำลังรอฟังข่าวดีนี้อยู่ และรู้สึกดีใจอย่างยิ่งที่ท่านรัฐมนตรีมีความคิดเห็นตรงกันเรื่อง “คูปองครู สู่ผู้เรียน” โดยจะประสานรายละเอียดกับเลขารัฐมนตรี คือ ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง ต่อไป

อนึ่งก่อนจบการหารือ นายณัชพัชร์ อุบลรัตน์ รองประธานสมาพันธ์ ได้กล่าวแสดงความรู้สึกของตนเองว่า “…ดีใจและชื่นชมที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการปราบคอร์รัปชัน แนวคิด “วิน” กับ “วิน” ที่จะสร้างความเป็นธรรมในระบบคูปองครู และมุ่งสู่ “ชัยชนะของผู้เรียน” และสุดท้าย คือ การเสริมสร้างคุณธรรมให้กับเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม …ผมมาทำคูปองครู เพื่อหาเงินไปรณรงค์ปลูกต้นไม้ 5 ล้านต้น ตามที่ผมฝันไว้ครับ…”

Related posts